การเป็นนักลงทุนระยะยาว หากเลือกลงทุนได้ถูกต้องและทยอยลงทุนแบบถัวเฉลี่ย (Dollar Cost Averaging : DCA) อาจไม่จำเป็นต้องกำหนดกลยุทธ์ในการซื้อขายมากนัก แต่หากลงทุนระยะสั้น โดยเฉพาะลงทุนในอนุพันธ์ ทั้งฟิวเจอร์ส
และออปชันที่มีวันครบกำหนดอายุของสัญญาหรือสิทธิ อาจต้องมีการวางแผนเพื่อกำหนดจุดซื้อ (Long) และขาย (Short) หรือจุดตัดขาดทุน (Stop Loss) ที่ชัดเจน
เพราะถ้าไม่กำหนดเป็นแผนในการลงทุนตั้งแต่แรก เมื่อราคาฟิวเจอร์สหรือออปชันเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่ไม่เป็นใจ เราอาจทำอะไรไม่ถูก จนประสบกับภาวะขาดทุนอย่างหนัก การกำหนดจุดเปิดและปิดสถานะก่อนเริ่มลงทุน จึงมีความสำคัญอย่างมากต่อการอยู่รอดในตลาดอนุพันธ์
ในมุมมองของผู้เขียน ไม่ค่อยห่วงการวางจุดเปิดสถานะ เพราะสภาพจิตใจของนักลงทุนยังไม่ถูกกดดันจากสภาพตลาดและผลลัพธ์ทั้งด้านบวกและลบของการเปิดสถานะ แต่จุดที่ต้องล้างสถานะ ไม่ว่าจะเป็นการปิดสถานะเพื่อทำกำไร หรือการปิดสถานะเพื่อตัดขาดทุน เป็นจุดที่ตัดสินใจยากกว่า เพราะถูกครอบงำด้วยอารมณ์ (ดีใจ/เสียใจ) หรือความรู้สึก(โลภ/โกรธ) ทำให้การส่งคำสั่งไม่สอดคล้องกับแผนการลงทุนที่วางไว้ จนก่อให้เกิดความเสียหายได้
ก่อนอื่นอยากให้ได้เห็นถึงผลลัพธ์จากการปล่อยให้ขาดทุน เปรียบเสมือนเวลาเล่นกีฬาปีนหน้าผาแล้วเหยียบพลาด ทำให้ร่วงลงมาตามแนวลวดสลิงที่รัดตัวอยู่ กว่าจะกลับไปปีนได้ใหม่ ต้องรอลวดสลิงนิ่งก่อน แล้วค่อยๆ เอาขาทีละข้างพยุงตัวเองขึ้นไปอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ต้องออกแรงมากว่าตอนปีนในครั้งแรก
เช่นเดียวกับการลงทุน ผลขาดทุนในแต่ละครั้งจะทำให้ต้องเหนื่อยกับการลงทุนครั้งถัดไปมากยิ่งขึ้น เช่น ถ้าใส่เงินลงทุนไป 100 บาท แล้วปล่อยให้ขาดทุน 50 บาท (50%) ถ้าจะทำให้กลับไปที่ 100 บาทเท่าเดิม ก็ต้องใส่เงินลงทุนอีก 50 บาท แต่คำถาม คือ จะทำได้หรือไม่?
ท่ามกลางสภาพจิตใจที่ผิดหวัง หงุดหงิด การจะกลับไปได้จึงเป็นเรื่องที่สามารถประเมินได้ยาก ดังนั้น ถ้าไม่อยากเจ็บปวดจากการลงทุนจนต้องออกจากตลาดก่อนเวลาอันควร ก็ไม่ควรปล่อยให้ขาดทุนหนัก
การพูดว่า... อย่าปล่อยให้ขาดทุนหนักเป็นเรื่องง่าย แต่การปฏิบัติจริงเป็นเรื่องยากมาก การป้องกันเพื่อไม่ให้เข้าสู่ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก จึงเป็นสิ่งที่นักลงทุนควรเรียนรู้และฝึกวางแผนการลงทุนไว้ตั้งแต่แรก
ถ้าเป็นนักลงทุนเน้นคุณค่า (VI) จะมีคำถาม 3 ข้อที่ต้องตอบให้ได้ก่อนตัดสินใจขายหุ้น คือ ซื้อหุ้นนี้ทำไม มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง และการเปลี่ยนแปลงนั้นทำให้เหตุผลในการซื้อหุ้นนี้เปลี่ยนไปหรือไม่
เมื่อนำมาปรับใช้กับการลงทุนในอนุพันธ์ ควรถามตัวเองก่อนว่า...
ถ้าคำตอบ คือ “ใช่” แสดงว่า... สถานการณ์เปลี่ยนจากที่คิดโดยสิ้นเชิง ก็ควรปิดสถานะเพื่อลดความเสี่ยง แล้วกลับมาวางแผนก่อนเปิดสถานะใหม่ด้วยคำถาม 3 ข้ออีกครั้ง
แผนในการลงทุนอนุพันธ์
ในโลกของการลงทุนปัจจุบัน นักลงทุนไม่สามารถนำทฤษฎีที่เคยใช้ได้ผลดีในอดีตกลับมาใช้ทำกำไรเกินปกติได้ตลอดเวลา ขณะที่การคาดการณ์ทิศทางเพื่อเปิดหรือปิดสถานะเริ่มยากขึ้น จากการเคลื่อนไหวของราคาฟิวเจอร์ส
หรือออปชันที่เข้าสู่จุดสมดุลอย่างรวดเร็ว เช่น วิเคราะห์มาอย่างดีว่าวันนี้ SET50 Index Futures ต้องปรับตัวขึ้น ปรากฎว่าขึ้นจริง แต่เป็นลักษณะเปิดกระโดดขึ้นไปเลย 10 จุด ก็ต้องกลับมาทบทวนแผนใหม่ว่าจะเปิดสถานะซื้อ (Long) ต่อ หรือเปลี่ยนมาเป็นฝั่งขาย (Short) ดี
การวางแผนกำหนดจุดเปิดและปิดสถานะ รวมถึงการตัดขาดทุน (Stop Loss) จึงกลายเป็นศาสตร์และศิลป์ที่นักลงทุนต้องเรียนรู้และฝึกฝนผ่านกระบวนการซื้อขาย ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียในการลงทุน ถือเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการอยู่รอดในระยะยาว
หากนักลงทุนสามารถเชื่อมโยงมาที่การวางแผนทางการเงินของตัวเองได้ จะยิ่งเข้าใจมากขึ้นว่าเพราะเหตุใดถึงไม่ควรปล่อยให้การลงทุนในทุกรูปแบบเกิดภาวะขาดทุนอย่างหนัก คำตอบที่ง่ายที่สุด คือ การลงทุนช่วยให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินง่ายขึ้นด้วยผลตอบแทนทบต้นต่อเนื่อง แต่การขาดทุนจะทำให้บรรลุเป้าหมายช้าลง หรือถ้าเข้าสู่ภาวะขาดทุนเรื้อรังอาจทำให้ฝันสลายจากเป้าหมายทางการเงินที่ถูกทำลายที่ละเป้าทีละเป้า เพราะฉะนั้น อย่าปล่อยให้ขาดทุนมากและนานเป็นดีที่สุด
สำหรับมือใหม่หัดเทรดฟิวเจอร์สหรือออปชัน แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นวางกลยุทธ์การลงทุนอย่างไรให้ได้กำไรทั้งในภาวะตลาดขาขึ้นและขาลง สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning กลุ่มหลักสูตร “การลงทุนในอนุพันธ์” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน