มนุษย์เงินเดือน ควรใช้ประโยชน์จากตลาดอนุพันธ์

โดย ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย)
2 Min Read
24 ธันวาคม 2563
2.764k views
TSI_102_มนุษย์เงินเดือน ควรใช้ประโยชน์จากตลาดอนุพันธ์
Highlights
  • ช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัว ตลาดหุ้นสดใส สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เลือกลงทุนในนโยบายที่มีการลงทุนหุ้นในสัดส่วนสูงๆ ก็คงจะมีความสุขที่เห็นผลการดำเนินงานของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีกำไร แต่ยามใดที่ตลาดหุ้นเป็นขาลง หรือตลาดหุ้นผันผวน จะรู้สึกกังวลกับผลขาดทุนที่เกิดขึ้นกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

  • มนุษย์เงินเดือนสามารถใช้ประโยชน์จากตลาดอนุพันธ์ เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง แถมยังมีโอกาสเพิ่มผลตอบแทนให้กับพอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของตนเองได้ด้วย

หากเอ่ยถึงนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในตลาดอนุพันธ์ จะพบว่า... ไม่ได้มีแค่กลุ่มผู้ป้องกันความเสี่ยง (Hedger) ที่ต้องการลดความเสี่ยงต่อราคาของสินค้าหรือวัตถุดิบที่ตัวเองต้องการในอนาคต แต่ยังมีนักลงทุนอีก 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเก็งกำไร (Speculator) ที่เข้ามาลงทุนเพื่อแสวงหาโอกาสรับผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงขึ้น และกลุ่มผู้หาโอกาสจากความผิดปกติ (Arbitrager) ซึ่งเป็นกลุ่มนักลงทุนที่อาจจะมีหรือไม่มีสถานะในสินค้าอ้างอิงหรือตราสารอนุพันธ์ แต่มองเห็นโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าอ้างอิงและอนุพันธ์ที่ไม่สอดคล้องกัน

 

ที่หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมา เพราะอยากจะบอกว่า... “มนุษย์เงินเดือน” เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่สามารถเข้ามาลงทุนในตลาดอนุพันธ์ได้ เพราะนอกจากอนุพันธ์จะเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการป้องกันความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนแล้ว ยังมีโอกาสเพิ่มผลตอบแทนให้กับพอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของเราได้ด้วย

 

ปัจจุบันกองทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนใหญ่เปิดโอกาสให้สมาชิกเลือกนโยบายการลงทุนด้วยตนเอง (Employee’s Choice) ซึ่งใครที่อยากได้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนสูงหน่อย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ก็คงหนีไม่พ้นที่จะต้องเลือกนโยบายที่ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงอย่าง “หุ้น”

 

จริงอยู่ที่หุ้นให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดในระยะยาว และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็ถือเป็นแหล่งออมเงินระยะยาวอยู่แล้ว หลายคนจึงไม่ลังเลที่จะมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นให้มากที่สุดเท่าที่จะรับความเสี่ยงได้

 

ในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัว ตลาดหุ้นสดใส เหล่ามนุษย์เงินเดือนก็คงจะมีความสุขที่เห็นผลการดำเนินงานกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นบวก (มีกำไร) แต่ยามใดที่ตลาดหุ้นเป็นขาลง หรือตลาดหุ้นผันผวน จะรู้สึกกังวลกับผลขาดทุนที่เกิดขึ้นกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

 

จึงมีข้อสงสัยว่า... มนุษย์เงินเดือนพอจะมีหนทางแก้ไขผลขาดทุนที่เกิดขึ้น หรือลดความเสี่ยงของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เกิดจากความผันผวนตลาดหุ้นในระยะสั้นได้หรือไม่? คำตอบคือ “ได้”

 

เมื่อตลาดหุ้นผันผวน จึงขอจำลองการลงทุนด้วยการใช้ SET50 Index Futures เพื่อทดสอบการบริหารความเสี่ยงให้กับพอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พบว่า... ได้ผลลัพธ์ที่ดี โดยเฉพาะในช่วงกลางปีที่ตลาดหุ้นทั่วโลกมักปรับตัวลงจนเกิดปรากฏการณ์ในทางสถิติที่เรียกว่า Sell in May”

 

วิธีการจำลองลงทุน คือ เปิดสถานะขาย (Short) ใน SET50 Index Futures 1 สัญญา ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 30 มิถุนายนปี 2561 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ SET50 Index ปรับตัวลง 10.5% สถานะการลงทุนโดยรวมปรากฎว่า... พอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพติดลบ 8% (ขาดทุน 20,000 บาท) ในขณะนั้น SET50 Index Futures พบว่า Series ที่ Active มากที่สุด คือ S50M18 แต่เลือกใช้ S50U18 ที่เป็น Series ซึ่งมีปริมาณการซื้อขายหนาแน่นเป็นอันดับที่สอง เนื่องจาก S50M18 จะหมดอายุวันที่ 28 มิถุนายนปี 2561

 

หลังจากเปิดสถานะขาย (Short) S50U18 จำนวน 1 สัญญา ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมปี 2561 ที่ราคาตลาด 1,185.10 จุด ซึ่งมูลค่าของสัญญาเท่ากับ 237,020 บาท (ราคาฟิวเจอร์ส ณ ตอนนั้น คือ คูณ 200) ถือว่าใกล้เคียงกับมูลค่าพอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ประมาณ 250,000 บาท

 

เมื่อผ่านไป 2 เดือน และครบกำหนดช่วงเวลาที่ตั้งใจไว้ (ราคา ณ วันที่ 29 มิถุนายนปี 2561) เท่ากับ 1,045.80 จุด ปรับตัวลงไป 139.30 จุด (หรือ 11.75%) ทำให้ได้กำไรจากการ Short Futures เท่ากับ (1,185.10 – 1,045.80) x 200 x 1 = 27,860 บาท หักค่าคอมมิชชั่นทั้งไปและกลับฝั่งละ 93 บาท (186 บาท) จะเหลือกำไรสุทธิ 27,664 บาท

 

ถ้าเทียบกัน จะพบว่า... กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีผลขาดทุน 20,000 บาท แต่จะมีกำไรจากการถัวความเสี่ยง 7,664 บาท สรุปแล้ว... เมื่อใช้ SET50 Index Futures เข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงเป็นครั้งคราว (โดยเฉพาะในช่วงตลาดผันผวน) จะทำให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพขาดทุนลดลง หรือมีโอกาสได้กำไร

 

จากตัวอย่างดังกล่าว ใช่ว่าเมื่อเข้ามาใช้ SET50 Index Futures บริหารความเสี่ยงแล้วจะมีกำไรทุกครั้ง เพราะอย่าลืมว่า... ภาวะตลาดการลงทุนไม่มีความแน่นอนและไม่สามารถประเมินได้อย่างแม่นยำ ดังนั้น หลักการใช้ SET50 Index Futures เพื่อบริหารความเสี่ยงจึงไม่มีรูปแบบที่ตายตัว

 

อย่างไรก็ตาม หากมีโอกาสใช้ SET50 Index Futures เพื่อบริหารความเสี่ยงให้กับพอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ควรเปิดสถานะขาย (Short) SET50 Index Futures เพื่อถัวความเสี่ยงในจังหวะที่ไม่มั่นใจจริงๆ เท่านั้น แต่เมื่อมั่นใจแล้วว่าตลาดหุ้นจะกลับมาเป็นขาขึ้น ก็ให้ปิดสถานะ หรือที่เรียกกันว่าปลด Hedge ออก

 

ถ้าทำแบบนี้ได้ รับรองว่า... การใช้ตลาดอนุพันธ์ก็จะเป็นประโยชน์สูงสุด

 

สำหรับมือใหม่หัดเทรดฟิวเจอร์ส แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นวางกลยุทธ์การลงทุนในฟิวเจอร์สอย่างไรให้ได้กำไรทั้งในภาวะตลาดขาขึ้นและขาลง สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “รอบรู้กลยุทธ์ลงทุน Futures” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

แท็กที่เกี่ยวข้อง: