จากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก และตลาดตราสารหนี้ก็ได้รับผลกระทบด้วย หน่วยงานภาครัฐได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อให้ตลาดกลับมาทำงานได้อย่างปกติ
ตัวอย่างเช่น เดือนมีนาคม ปี 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดตั้งกลไกพิเศษเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่กองทุนรวมผ่านธนาคารพาณิชย์ โดยธนาคารพาณิชย์ที่เข้าซื้อหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) และกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนเปิด (Daily Fixed Income Fund) ที่ถือสินทรัพย์คุณภาพดี แต่ได้รับผลกระทบจากการที่ตลาดเงินขาดสภาพคล่อง สามารถนำหน่วยลงทุนดังกล่าวมาวางเป็นหลักประกันเพื่อขอสภาพคล่องจาก ธปท. ได้ โดยจะดำเนินการจนกว่าสถานการณ์ในตลาดการเงินจะเข้าสู่ภาวะปกติ
หลังจากมาตรการดังกล่าวออกมา ส่งผลให้ตลาดตราสารหนี้ไทยมียอดซื้อสุทธิจากบริษัทจัดการกองทุน (บลจ.) แสดงให้เห็นในเบื้องต้นว่า... มาตรการส่งเสริมสภาพคล่องได้ผลในระดับหนึ่ง คือ มีการซื้อขายคล่องตัวขึ้น สะท้อนว่าตลาดตราสารหนี้เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ
หากพูดถึงปัญหาการขาดสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง แต่ก็มักจะคลี่คลายได้ในระยะเวลาอันสั้น และหากเกิดสถานการณ์ตลาดขาดสภาพคล่อง ทําให้เกิดโอกาสการลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพดีที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น (แปลว่า มีราคาถูกลง) และยิ่งมีมาตรการออกมา ก็สามารถช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดและความกังวลของนักลงทุนได้พอสมควร
คำแนะนำ... หากลงทุนกองทุนรวมตราสารหนี้อยู่แล้ว
หากลงทุนกองทุนรวมตราสารหนี้อยู่แล้ว “ไม่ควรขายออกไป” เพราะไม่ใช่ปัญหาจากคุณภาพของตราสารหนี้ เนื่องจากกองทุนรวมมีการลงทุนตราสารหนี้ที่มีคุณภาพ ดังนั้น สินทรัพย์การลงทุนที่ดี ไม่ควรขายเพราะตกใจ แต่ถ้าตกใจและขายออกไปก็มีโอกาสขายขาดทุน เนื่องจากสินทรัพย์ประเภทพันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้เอกชนระดับ Investment Grade เป็นตราสารหนี้ที่มีนักลงทุนต้องการลงทุนตลอดเวลา เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ ประกันสังคม กบข. หรือบริษัทประกันชีวิต เพราะนักลงทุนสถาบันเหล่านี้ เชื่อว่าเป็นตราสารหนี้ที่มีคุณภาพดี
พูดง่ายๆ ตราสารหนี้ที่มีคุณภาพดี ทั้งพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน เป็นสิ่งที่นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ และถ้าเชื่อว่าตราสารหนี้ที่ลงทุนมีความปลอดภัยในระยะยาว (เพียงแต่ในระยะสั้นมีความผันผวน ราคาปรับลดลง) ย่อมเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าลงทุน แต่หากมีความกังวลกับสถานการณ์ นักลงทุนก็สามารถโยกจากกองทุนตราสารหนี้ไปยังกองทุนรวมตลาดเงิน ที่มีนโยบายลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเกือบ 100% ซึ่งการมีรัฐบาลค้ำประกัน แปลว่า มีความมั่นคง
คำแนะนำ... สำหรับมือใหม่
ในช่วงตลาดผันผวน เช่น ช่วงวิกฤติ COVID-19 นักลงทุนสามารถลงทุนกองทุนรวมตราสารหนี้ได้ เพราะถือเป็นจังหวะของผู้ซื้อ ซึ่งวิธีลงทุนที่น่าสนใจ คือ ทยอยลงทุนอย่างสม่ำเสมอ (Dollar Cost Average : DCA) เพราะกองทุนรวมได้ถูกออกแบบให้ลงทุนระยะยาวเพื่อสะสมเงินออมไว้ใช้หลังเกษียณ
สำหรับมือใหม่อาจเริ่มต้นจาก “กองทุนรวมตลาดเงิน” ที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้น อายุคงเหลือน้อยกว่า 1 ปี เพราะมีความเสี่ยงต่ำ มีสภาพคล่องสูงและมีคุณภาพดี เช่น เงินฝาก พันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้เอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือดี แต่หากรับความเสี่ยงและต้องการผลตอบแทนเพิ่มขึ้นสูงกว่ากองทุนรวมตลาดเงิน ก็สามารถแบ่งเงินไปลงทุน “กองทุนรวมตราสารหนี้ทั่วไป” ที่เปิดให้ผู้ลงทุนซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุนได้ทุกวันทำการ (Daily Fixed Income)
หากพูดถึงตราสารหนี้ถือว่ามีความเสี่ยงอยู่ในระดับต่ำ เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน ความผันผวนของราคาอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ เช่น หุ้น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ดังนั้น ตราสารหนี้จึงเป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุนที่ดูแลเงินต้นของนักลงทุน ถือเป็นตัวช่วยประคองพอร์ตลงทุนโดยรวมในช่วงตลาดผันผวน
อย่างไรก็ตาม ควรกระจายความเสี่ยงในการลงทุนด้วยการจัดสรรสัดส่วนเงินลงทุนไปยังสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ตามความเหมาะสมกับระดับความเสี่ยงของแต่ละคนด้วย
สำหรับใครที่สนใจอยากเริ่มลงทุนในตราสารหนี้ แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ลงทุนตราสารหนี้ฉบับมือใหม่” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่