สรุปเทรนด์ลงทุนภาวะเศรษฐกิจโลกหลัง COVID-19
เทรนด์การลงทุนยุคใหม่ และโอกาสในตลาดทุน
ปัจจัยสำคัญในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ปี 2022
หลังจากที่ทั่วโลกเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจจากโรคระบาด COVID-19 หลาย ๆ ประเทศได้ปรับตัวและสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว แต่โลกหลังจากนี้ จะมีโอกาสและความเสี่ยงอะไรบ้างที่เราจะต้องเผชิญ เพื่อให้แผนการลงทุนไม่สะดุด
วันนี้เราขอสรุปมุมมอง ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย โอกาสและความเสี่ยงในการลงทุนในปีหน้าจากวิทยากรชั้นนำของไทย จากงาน SET in the City 2021 มาฝากกัน
“โลกการลงทุนหลัง COVID–19 ทิศทางของ Digital Assets จะได้รับการยอมรับและมาแรงขึ้น”
ดร .กิริฎา เภาพิจิตร
ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ( TDRI)
โลกหลัง COVID-19 ถึงแม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัว แต่จะมีหลายสิ่งที่เปลี่ยนไปเยอะมากและกระทบในหลาย ๆ ธุรกิจ และส่งผลต่อการลงทุนด้วยเช่นกัน มีหลากหลายปัจจัย ได้แก่
สงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐกับจีนที่ยังคงดำเนินต่อไป และจะทวีความรุนแรงมากขึ้นด้วยซ้ำ ซึ่งสหรัฐฯ จะมีการกีดกันเทคโนโลยีของจีน ไม่ว่าจะเป็น TikTok ที่ถูกรัฐบาลสหรัฐสั่งไม่ให้ทำธุรกิจในประเทศ หรือการที่สหรัฐฯ ไม่อนุญาตให้โรงงานผลิตสินค้าในจีนใช้เทคโนโลยีของ US โดยเริ่มต้นในยุคของ Donald Trump และยังคงดำเนินต่อในยุคของ Joe Biden
เทคโนโลยีที่กำลังจะมาแรงในอนาคต มี 10 อย่าง ซึ่ง 9 ใน 10 จีนเป็นผู้นำ เช่น AI, VR, Blockchain เป็นต้น แต่อีก 1 อย่าง ที่สหรัฐยังคงนำอยู่ ได้แก่ Quantum Computing ซึ่งไทยที่เป็นประเทศผู้ใช้เทคโนโลยี อาจต้องซื้อเทคโนโลยีของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งในอนาคต คาดว่าอุตสาหกรรมดังกล่าวจะแบ่งเป็น 2 ค่ายอย่างชัดเจนขึ้น
บริษัทที่อยู่ในจีนมีแนวโน้มที่จะย้ายออก เนื่องจาก 1.) ค่าจ้างแรงงานของจีนที่สูงขึ้น 2.) ต้องการลดความเสี่ยงจากผลกระทบของการทำสงครามการค้า 3.) COVID-19 และ 4.) แนวโน้มของเศรษฐกิจของจีนที่ชะลอตัวลง เนื่องจากนโยบายทางเศรษฐกิจ โดยย้ายมาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ไทยได้รับอานิสงค์เป็นอันดับ 2 รองจากเวียดนาม
Digitalization จะถูกนำไปใช้ในหลายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น Online Commerce/Service, From - Home Economy หรือ Telemedicine เป็นต้น และจะยังคงใช้ต่อไปในอนาคต ถึงแม้ว่า COVID-19 จบหรือซาลงไป
Digital Asset หรือสินทรัพย์ดิจิทัลที่กำลังมาแรงได้รับการยอมรับมากขึ้น และเติบโตอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นสกุลเงินดิจิทัล การระดมทุน ICO หรือแม้แต่การการสะสมศิลปะอย่าง NFT ซึ่งได้รับการสนับสนุนในบางประเทศแล้ว
เทรนด์ De-Carbonization และความต้องการสินค้าชีวภาพในโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในโลกตะวันตกที่ต้องการให้มีการปล่อย Carbon ลดลง อย่างเช่นยุโรปที่ตั้งกฎว่าหากจะส่งของไปขายในอนาคต จะต้องใช้การขนส่งที่ปล่อย Carbon ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด เป็นต้น และในอนาคตจะมีผลิตภัณฑ์สินค้าชีวภาพมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกรไทยในอนาคตด้วย
ESG จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากในมุมมองของนักลงทุนส่วนใหญ่ มองว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่จะทำ และสามารถช่วยลดความเสี่ยงของบริษัทในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการจัดการ
สัดส่วนของประชากรสูงวัยในโลกเพิ่มขึ้น และไทยเป็นอีก 1 ประเทศที่จะเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบในปีหน้า ซึ่งเป็นโอกาสในการปรับสินค้าและบริการให้เข้ากับเทรนด์นี้
ความเหลื่อมล้ำและความตึงเครียดทางการเมืองเพิ่มขึ้น การที่มี COVID-19 ยาวนานถึง 2-3 ปี ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ผู้ที่มีรายได้น้อย เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงกิจกรรมทาง Technology ได้ ซึ่งจะทำให้ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น และส่งผลให้ความตึงเครียดทางการเมืองเพิ่มขึ้นมา
“โลกยุคใหม่ นักลงทุนมีแนวโน้มที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดทุนผ่านการใช้ Technology ด้วยตัวเองมากขึ้น”
ดร.ภากร ปีตธวัชชัย
กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
หลังจากปี 2019 ปัจจัยหลาย ๆ อย่างในตลาดเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็น ปริมาณการซื้อขายของนักลงทุนที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และนี่คือแนวโน้มการลงทุนที่น่าจะได้เห็นในปีหน้า
ปริมาณการซื้อขายโดยเฉลี่ยต่อวันใน 3 ปีหลัง มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2019 คิดเป็นจำนวน 53,192 ล้านบาท ปี 2021 อยู่ที่ 68,607 ล้านบาท และในรอบ 9 เดือนของปี 2021 อยู่ที่ 95,683 ล้านบาท
2. ยอดเปิดบัญชีของนักลงทุนรายย่อยมีการเติบโตเพิ่มขึ้นในปี 2020 และ รอบ 9 เดือนของปี 2021 เพิ่มขึ้นประมาณ 750,000 บัญชี และ 1,400,000 บัญชีตามลำดับ
สำหรับสัดส่วนช่องทางการซื้อขายของนักลงทุนรายย่อยโดยเฉลี่ย ในปี 2010 นักลงทุนรายย่อย ลงทุนผ่าน Investment Consultant เป็นจำนวน 12,326 ล้านบาท และลงทุนผ่าน Online Trading 5,282 ล้านบาท แต่พอมาในปี 2021 นักลงทุนรายย่อยหันมาลงทุนผ่าน Online Trading เป็นจำนวน 39,419 ล้านบาท และลงทุนผ่าน Investment Consultant เป็นจำนวน 6,417 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าในโลกยุคใหม่ นักลงทุนมีแนวโน้มที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดทุนผ่าน Technology ด้วยตนเองมากขึ้น
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังวิกฤต COVID-19 ค่อย ๆ ฟื้นตัว และฟื้นได้แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรม หากนับตั้งแต่ต้นปี 2020 SET Index เติบโตขึ้น 7.22% และในบางอุตสาหกรรมอย่าง Industrial, Technology และ Agro & Food เติบโตสูงกว่า SET Index เป็น 47.42%, 45.22% และ 11.89% ตามลำดับ
สาเหตุที่ภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวได้เร็ว เนื่องจากการส่งออกฟื้นตัวดีมาก ทำให้เกิดรายได้จากต่างประเทศ โดยรายได้ของบริษัทที่มีรายได้จากช่องทางดังกล่าวทั้ง 200 บริษัท ทำรายได้รวม 2.96 ล้านล้านบาท คิดเป็น 30% ของรายได้รวมของบริษัทจดทะเบียนไทยทั้งหมด โดยหลัก ๆ มาจากอุตสาหกรรม Agro & Food 64%, Industrial 49%, Resource 25%, Property & Construct และ Technology อย่างละ 21%
หลังปี 2020 นักลงทุนทั้งสถาบันต่างประเทศและบุคคลให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อความยั่งยืนมากขึ้น โดยมีกองทุนที่ลงทุนในบริษัทเหล่านี้มียอด Asset Under Management เพิ่มขึ้นถึง 247% ในปี 2021 เมื่อเทียบกับปี 2017 และผลตอบแทนกับสภาพคล่องของบริษัทที่อยู่ใน DJSI (Dow Jones Sustainability Index) ก็เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน
“เศรษฐกิจไทย ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่การฟื้นตัวอาจมีความไม่แน่นอนอยู่พอสมควร”
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย
หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)
หลังจากผ่านวิกฤตที่ผ่านมา อาจทำให้การลงทุนมีปัญหา แต่กลายเป็นว่าเป็นปีที่ดีสุดของการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนนอกประเทศหรือในประเทศไทย ในปีหน้า มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
เศรษฐกิจโลกได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว หลังจากมีการฉีดวัคซีน และในหลายประเทศเข้าสู่ภาวะปกติไปแล้ว เช่น สหรัฐฯ ซึ่งเศรษฐกิจในปี 2020 ตกลงไปประมาณ 3% และประเมินว่าจะฟื้นตัวกลับขึ้นมา 2021 มากกว่า 5.6%
ข้อจำกัดด้านอุปทานและเงินเฟ้อมีการกลับมาพูดค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว เราจะเห็นแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบหลายปี หลังจากที่ใช้นโยบายการเงินและการคลัง
เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วเช่นเดียวกันกับทั่วโลก และฟื้นตัวแบบค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป เนื่องจากการฟื้นตัวยังมีความไม่แน่นอนและอาจใช้เวลา เศรษฐกิจยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าก่อนเกิด COVID-19 ไปจนถึง 2023
ปัจจัยที่สำคัญของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2022 มีอยู่ด้วยกัน 4 ปัจจัย ได้แก่
1.) การควบคุมการระบาดในประเทศ และการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ
ยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ได้ลดลงเมื่อเทียบกับช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา และประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติมากขึ้น แต่ในต่างประเทศ ถึงจะมีการฉีดวัคซีนเยอะ ก็ยังมีความเสี่ยงของการแพร่ระบาดได้อีกครั้ง ซึ่งอาจทำให้ยอดนักท่องเที่ยวกลับมาน้อยกว่าที่คาด
2.) การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน
จากปัจจัยเสี่ยงภาคอสังหาริมทรัพย์ คิดเป็น 30% ของเศรษฐกิจจีน คนไม่ซื้อบ้านเช่นเดิม ทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงไปด้วย และส่งผลกระทบต่อภูมิภาค รวมถึงไทย นอกจากนี้ ปัจจัยอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น การขาดแคลนพลังงานของจีน ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของจีน ซึ่งเป็นผลกระทบระยะสั้น การควบคุมการติดเชื้อในจีนโดยใช้ Zero-COVID ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจไทยด้วยเช่นกัน
3.) อัตราเงินเฟ้อโลก ค่าครองชีพ และกำไรของธุรกิจ
จากอัตราเงินเฟ้อที่มีการขยับตัวที่สูงขึ้น ข้อจำกัดด้านอุปทาน เป็นปัจจัยกดดันให้ราคาสินค้าค่อนข้างแพง ราคาน้ำมันสูงขึ้น และส่งผลกระทบความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภคด้วย นอกจากนี้ยังกระทบถึงต้นทุนของธุรกิจอีกด้วย
4.) อัตราดอกเบี้ยกำลังจะเป็นขาขึ้น
เนื่องจากทั่วโลกมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป และในประเทศไทยเจอปัญหา คือ เศรษฐกิจกำลังจะฟื้นตัว แต่เจอแรงกดดันของราคาและอัตราดอกเบี้ยจากเศรษฐกิจทั่วโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อการ Valuation ในการลงทุน
และทั้งหมดเป็น Highlight สำคัญในงาน SET in The City 2021 ใน Session เศรษฐกิจ การลงทุน ความท้าทาย ในปี 2022 สำหรับนักลงทุนที่ต้องการเพิ่มโอกาสในการลงทุนในตลาดหุ้นไทย สามารถติดตามข้อมูลบทวิเคราะห์หุ้นรายตัวจากโครงการจัดทำบทวิเคราะห์สำหรับผู้ลงทุน คลิกที่นี่
แท็กที่เกี่ยวข้อง:
หุ้น
วัฏจักรเศรษฐกิจ
วิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน
ให้คะแนนเนื้อหานี้กี่คะแนน