กองทุนที่ลูกจ้างและนายจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นโดยความสมัครใจ เพื่อเป็นหลักประกันแก่ลูกจ้าง เมื่อยามลูกจ้างเกษียณอายุ ทุพพลภาพหรือออกจากงาน หรือเป็นหลักประกันให้แก่ครอบครัว กรณีที่ลูกจ้างเสียชีวิต โดยเงินกองทุนจะมาจากเงินที่ลูกจ้างจ่ายเข้ากองทุนเพื่อตนเอง ที่เรียกว่า “เงินสะสม” ซึ่งกฎหมายกำหนดให้สะสมได้ตั้งแต่ 2 - 15% ของเงินเดือน และเงินที่นายจ้างจ่ายเข้ากองทุนให้อีกส่วนหนึ่งเรียกว่า “เงินสมทบ”
ดังนั้น การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงจัดได้ว่าเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่งที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้าง นอกจากนี้ ยังถือเป็นการออมที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่ง เพื่อประโยชน์ในยามชราภาพของลูกจ้าง ซึ่งเงินสะสมที่ลูกจ้างจ่ายเข้ากองทุน สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง โดยหักได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ และไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับเงินสะสมกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือเงินกองทุน กบข. หรือเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ (ถ้ามี) แล้ว