เทคนิคการเลือก DW

“จะเลือก DW ยังไงดี... มีเยอะแยะไปหมด?”
“จะเลือก DW ยังไงดี... มีเยอะแยะไปหมด?”

สำหรับนักลงทุนที่พอเข้าใจว่า DW คืออะไร และคันไม้คันมืออยากเริ่มต้นลงทุน หรือนักลงทุนที่เทรด DW เป็นประจำอยู่แล้ว แต่อยากได้แนวทางในการลงทุนที่ชัดเจนมากขึ้น เรามาดูขั้นตอนง่ายๆ ในการเลือก DW ให้เหมาะกับตนเองกัน

img-dw-4-01
1
เลือกสินค้าอ้างอิงที่สนใจ

จำให้แม่นว่า... DW ไม่มีมูลค่าในตัวมันเอง ราคาของ DW จะเคลื่อนไหวตามราคาสินค้าอ้างอิงเสมอ อันดับแรกเราจึงต้องเลือกสินค้าอ้างอิงก่อน โดยเราอาจเลือกหุ้นหรือดัชนีที่เราสนใจในช่วงนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นฮิตติดลมบน หุ้นในกระแส หุ้นวอลุ่มเข้า หุ้นมีสัญญาณซื้อ/ขาย หรือถ้าเลือกไม่ถูกไม่รู้จะเลือกหุ้นตัวไหนดี เลือกเป็นดัชนี SET50 หรือ SET100 ไปเลยก็ได้

2
เลือกเทรนด์ให้ชัด ก่อนตัดสินใจซื้อ

เมื่อเลือกหุ้นหรือดัชนีที่น่าสนใจได้แล้ว ก็ต้องเลือกฝั่งว่าจะ Call หรือ Put หากเรามองว่าราคาสินค้าอ้างอิงกำลังจะขึ้น ก็เลือก Call แต่หากมองว่าราคาสินค้าอ้างอิงกำลังจะลง ก็ เลือก Put สิ่งสำคัญ คือ ต้องอ่านเทรนด์ตลาดและหุ้นให้ขาดเสียก่อน แล้วค่อยมาลงทุนใน DW เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะขาดทุนหนักๆได้

3
เลือก DW แบบที่ชอบ บนความเสี่ยงที่รับได้

มาถึงขั้นนี้ลองถามตัวเองว่า... เราต้องการ DW แบบไหนที่จะทำให้แผนการเทรดของเราสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ ซึ่งวิธีการเลือกอาจแบ่งออกเป็น

img-dw-4-02เลือกตามความแรงของการเคลื่อนไหวราคา DW สามารถดูได้จาก...
img-dw-4-03

อัตราทด (Effective Gearing)

เป็นตัวที่บอกว่า ถ้าราคาสินค้าอ้างอิงเปลี่ยนแปลงไป 1% ราคาของ DW จะเปลี่ยนแปลงไปกี่เปอร์เซ็นต์ โดย Effective Gearing จะช่วยสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนที่มากกว่าปกติ ซึ่งจะมีความแตกต่างกันตามที่ผู้ออกกำหนด

ตัวอย่างเช่น Effective Gearing 10 เท่า แปลว่าถ้าราคาสินค้าอ้างอิงปรับตัวเพิ่มขึ้น 1% ราคา DW จะปรับเพิ่มขึ้น 10% จะเห็นว่า... DW จะช่วยสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้มากกว่าปกติ แต่หากเราซื้อขายผิดทาง ราคาสินค้าอ้างอิงเกิดปรับตัวลดลง 1% เราก็จะขาดทุน 10% เช่นกัน 

img-dw-4-04

ความอ่อนไหว (Sensitivity)

เป็นตัวที่บอกว่า ถ้าราคาสินค้าอ้างอิงมีการเปลี่ยนแปลงไป 1 ช่อง ราคาของ DW จะมีการปรับตัวกี่ช่อง

ตัวอย่างเช่น Sensitivity = 2 แปลว่าถ้าราคาหุ้นอ้างอิงเปลี่ยนแปลง 1 ช่อง ราคาของ DW จะมีการเปลี่ยนแปลง 2 ช่อง 

ดังนั้น เราอาจไม่จำเป็นต้องเลือก DW ที่มี Effective Gearing และ Sensitivity สูงๆ เพราะแม้จะมีโอกาสได้ผลตอบแทนสูง แต่ก็มีโอกาสขาดทุนสูงด้วยเช่นกัน ทางที่ดี... ควรเลือก DW ที่มี Effective Gearing และ Sensitivity ที่เหมาะกับตัวเอง

img-dw-4-02เลือกตามความถูกหรือแพงของราคา DW สามารถดูได้จาก...
img-dw-4-05

ค่าเสื่อมทางเวลา (Time Decay)

เป็นค่าที่บอกว่าเมื่อเวลาผ่านไป 1 วัน ราคา DW จะลดลงกี่เปอร์เซนต์ พูดง่ายๆ คือ หากราคาสินค้าอ้างอิงไม่ขึ้น ไม่ลง DW ที่เราถือก็ขาดทุน ดังนั้น นักลงทุนจึงควรหลีกเลี่ยงการถือ DW ที่มี Time Decay สูง เป็นระยะเวลานานๆ เนื่องจากราคา DW อาจเคลื่อนไหวไม่สอดคล้องกับราคาสินค้าอ้างอิงตามที่ควรจะเป็น

โดยทั่วไป DW ที่มีค่า Time Decay สูงๆ มักจะเป็น DW ที่มีอายุคงเหลือไม่มากนัก เช่น น้อยกว่า 2 เดือน

img-dw-4-06

ความผันผวนแฝง (Implied Volatility : IV)

เป็นค่าความผันผวนของราคาสินค้าอ้างอิงที่แต่ละผู้ออก DW คาดไว้ โดย Implied Volatility ยิ่งสูง แสดงว่าราคา DW ยิ่งแพง ซึ่งการเปรียบเทียบค่า Implied Volatility ควรเปรียบเทียบกับสินค้าอ้างอิงเดียวกันและมีลักษณะไม่แตกต่างกันมากนัก เช่น อายุคงเหลือ และ Effective Gearing ใกล้เคียงกัน

สิ่งที่เราควรพิจารณา คือ ผู้ออกแต่ละรายอาจคาดการณ์ค่า Implied Volatility แตกต่างกัน ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ย หรือความแตกต่างของราคา DW (ผู้ออกบางรายอาจใช้ราคา Last ในขณะที่อีกรายอาจใช้ราคา Offer นำมาคำนวณ) เป็นต้น

img-dw-4-07

All-in Premium

เป็นตัวที่บอกว่า ถ้าเราซื้อ DW แล้วทำการแปลงสภาพเป็นสินค้าอ้างอิงจะมีความถูกหรือแพงกว่าสินค้าอ้างอิงเท่าใด 

ตัวอย่างเช่น All-in Premium = 5% แปลว่าสินค้าอ้างอิงต้องขึ้น 5% ถึงจะทำให้ DW ถึงจุดคุ้มทุนในการแปลงสภาพ โดยปกตินักลงทุนไม่ได้จำเป็นต้องแปลงสภาพ DW แต่เราจะใช้ค่านี้ในการเปรียบเทียบความถูกหรือแพงของ DW ตัวนั้นๆ 

ค่า All-in Premium จะสอดคล้องกับค่า Implied Volatility ถ้า 2 ค่านี้ยิ่งสูง แสดงว่า DW นั้นยิ่งแพง ดังนั้น เราจึงควรเลือก DW ที่มี Implied Volatility หรือ All-in Premium น้อยกว่า DW ตัวอื่นๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกันเพราะจะแสดงถึงต้นทุนในการถือครองที่ต่ำลง และโอกาสในการสร้างกำไรที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ อย่าลืม!! ดูวันหมดอายุของ DW ด้วยนะ เพราะยิ่งใกล้วันหมดอายุเท่าไหร่ ราคา DW จะยิ่งลดลงเร็วมากขึ้นเท่านั้น


จะเห็นว่า... DW เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อนักลงทุนที่เข้าใจหลักการตัดสินใจลงทุน และความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง ดังนั้น เราจึงควรจะศึกษาและทำความเข้าใจ DW ให้ดีก่อนเริ่มลงทุน และเลือกลงทุนใน DW ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสไตล์การลงทุนของเรา มากที่สุด เพียงเท่านี้... ก็ทำให้การเทรด DW มีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้นแล้ว

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม  คลิกที่นี่