รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง ... การเทรด DW ก็เช่นกัน ถ้าเรารู้ข้อมูลที่มากพอ ก็ชนะเกมนี้ได้ไม่ยากนัก โดยเฉพาะข้อมูลผู้ออก DW และผู้ดูแลสภาพคล่อง หรือที่เรียกกันว่า “Market Maker” เพราะผู้ออกแต่ละค่ายจะมีสไตล์การออก DW ที่ไม่เหมือนกัน บางรายเน้นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว อัตราทดสูง หรือบางรายเน้นการถือครองยาวๆ มีค่าเสื่อมราคาต่ำ
ชื่อก็พอจะบอกอยู่แล้วว่าเป็นคนที่ทำให้ตลาดมีการเคลื่อนไหว เกิดการซื้อขายกัน หน้าที่ของ Market Maker จึงเป็นการ “ดูแลสภาพคล่อง” ทำให้นักลงทุนอุ่นใจว่ามีปริมาณหุ้นให้ซื้อขายมากเพียงพอ และเป็นราคาที่เหมาะสมไม่เอารัดเอาเปรียบ
โดยปกติแล้วโบรกเกอร์ผู้ออก DW แต่ละค่ายจะทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลสภาพคล่องด้วยตนเอง และจะกำหนดรายละเอียดเงื่อนไขต่างๆ ไว้ใน “ข้อกำหนดสิทธิ” ของ DW ที่เสนอขายต่อนักลงทุน เช่น ราคาใช้สิทธิ ระยะเวลาใช้สิทธิ อัตราใช้สิทธิ เหตุการณ์ที่จะมีการปรับราคาและอัตราใช้สิทธิ
รวมไปถึงเงื่อนไขในการทำหน้าที่ของผู้ดูแลสภาพคล่อง ซึ่งทั่วไปจะระบุปริมาณ DW ที่ทำการวางในตลาด และช่วงห่างของ Bid-Offer แต่ในบางกรณี Market Maker ก็สามารถยกเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการทำสภาพคล่องได้ เช่น กรณีที่ราคา DW ต่ำกว่า 0.05 บาท หรืออายุคงเหลือน้อยกว่าหรือเท่ากับ 14 วันทำการ ซึ่งเป็น DW ที่ใกล้หมดอายุแล้ว เป็นต้น
เราในฐานะนักลงทุนจึงต้องอ่านรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับ DW นั้นให้ดี รวมทั้งศึกษาข้อมูลในตลาดจริง และพิจารณาความสามารถในการทำหน้าที่ดูแลสภาพคล่องของผู้ออกแต่ละค่ายด้วยว่า... ทำหน้าที่ดูแลสภาพคล่องเป็นอย่างไร?
เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนที่จะเริ่มลงทุน
ซึ่งเราสามารถตรวจสอบได้ใน 3 ประเด็น
Bid-Offer... หนาแน่น
Market Maker ต้องตั้งราคาเสนอซื้อและเสนอขาย หรือ Bid-Offer หนามากพอ และวางไม่ห่างเกินไป… ทำให้เราเคาะซ้ายขวาได้โดยไม่เสียราคา หมายความว่า หากเราจะลงทุน DW ตัวหนึ่ง จำนวนหุ้นที่จะซื้อ คือ 100,000 หุ้น DW ตัวที่เราต้องการเลือก ก็ควรมี Bid-Offer มากกว่า 100,000 หุ้น เพื่อรองรับการซื้อขายของนักลงทุนทั้งรายใหญ่และรายย่อย
สิ่งที่นักลงทุนต้องตรวจสอบ คือ Market Maker มีการวาง Bid-Offer เป็นอย่างไร? วาง Bid รับซื้อคืนตามตารางที่กำหนด แต่วาง Offer ห่างไปหลายช่อง เหมือนฟันหลอมั้ย? เพราะถ้า “ใช่” นั่นแปลว่า... Market Maker อาจไม่มีของไม่อยากขายของ หรือมีแต่ผู้ออกเท่านั้น ไม่มีนักลงทุนคนอื่น
ดังนั้น Market Maker ที่ดี ควรตั้งราคา Bid-Offer ไม่ห่าง หรือห่างให้น้อยที่สุด (1 Tick Size) และราคา DW เปลี่ยนแปลงไปตามหุ้นอ้างอิงทันที
สิ่งที่นักลงทุนต้องตรวจสอบ คือ ราคาที่ระบุในตารางเป็นราคาเสนอซื้อ (Bid) หรือเสนอขาย (Offer)? เพื่อให้เข้าใจกลไกการเคลื่อนไหวของราคาอย่างถูกต้องก่อนตัดสินใจซื้อ และตรวจสอบว่า... ราคา DW ที่ซื้อขายอยู่ในปัจจุบันเป็นราคาที่เหมาะสมหรือไม่? โดยนำ Indicative Price มาเปรียบเทียบกับราคาที่ซื้อขายจริงในกระดาน ซึ่งราคาไม่ควรแตกต่างกันมากนัก
Volume... เพียงพอ
ปริมาณวอลุ่มเป็นอีกหัวใจหนึ่งในการซื้อขาย DW เพราะหากอยากลงทุนจำนวนมาก แต่ Bid-Offer น้อย อาจทำให้เราไม่สามารถลงทุนได้ตามต้องการ หรือหากต้องการเทรดก็ทำได้ยาก เพราะสภาพคล่องไม่พอ
Market Maker ที่ดี ต้องดูแล DW ที่ออกให้มีปริมาณวอลุ่มเพียงพอต่อการซื้อขาย วอลุ่มยิ่งมากก็ยิ่งดี ทำให้เราซื้อขายได้สะดวก เข้าออกง่าย แถมยังทำให้นักลงทุนมีโอกาสซื้อ-ขายได้ราคาดีกว่าตารางราคาตามที่ผู้ออกได้แจ้งไว้ด้วย โดย DW ที่มีวอลุ่มเยอะๆ นั้น นอกจากแสดงถึงความเป็นที่นิยมของนักลงทุนแล้ว ยังสะท้อนถึงความน่าเชื่อถือของผู้ออก และความสามารถของ Market Maker ในการจัดการราคาของ DW ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงๆ ให้ตรงตามตารางราคาอีกด้วย
สิ่งที่นักลงทุนต้องตรวจสอบ คือ เมื่อมีการซื้อขาย DW ปริมาณมากๆ แล้ว Market Maker จะเพิ่มปริมาณ DW ให้เพียงกับความต้องการของนักลงทุนได้ทันเวลาหรือไม่?
ซึ่งปกติเวลาที่วอลุ่มเยอะๆ Market Maker ก็จะบริหารจัดการให้ราคาตรงตามตารางได้ยากขึ้น หลายค่ายจึงมีการ
นำเอาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์จากต่างประเทศมาใช้วางวอลุ่ม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับนักลงทุนไทย
เหล่านี้ล้วนเป็นพฤติกรรมของ Market Maker ที่นักลงทุนจะต้องเฝ้าสังเกตด้วยตนเองก่อนเริ่มลงทุน โดยนักลงทุนควรเลือก DW ที่ผู้ออก และ Market Maker มีประสบการณ์ยาวนาน และมีการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีความน่าเชื่อถือในการทำหน้าที่ผู้ดูแลสภาพคล่อง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงและสร้างโอกาสในการทำกำไรได้