เลือกตราสารหนี้ยังไง?

“ตราสารหนี้ แบบไหนที่น่าลงทุน?”

การลงทุนตราสารหนี้โดยตรง นั้น เหมาะกับนักลงทุนที่มีเงินออมมากหน่อย เพราะผู้ออกจะกำหนดมูลค่าขั้นต่ำในการลงทุนค่อนข้างสูง

img-bong-2-01

อย่างที่รู้กันว่า... การลงทุนในตราสารหนี้ นักลงทุนจะได้รับสัญญาแสดงความเป็นเจ้าหนี้ โดยเนื้อหาของสัญญาการกู้ยืมเงินจะระบุเงินต้น ดอกเบี้ย ความถี่ในการจ่ายดอกเบี้ย อายุของหนี้เป็นหลัก แต่จะไม่ระบุถึงความสามารถในการชำระหนี้และความเข้มแข็งทางการเงินของการชำระหนี้ของลูกหนี้ (ผู้ออกตราสาร) จึงต้องมีการจัดอันดับเครดิต (Credit Rating) ของตราสารหนี้ เพื่อให้นักลงทุนได้ทราบข้อมูลนี้ก่อนตัดสินใจ

อันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating)

สำหรับพันธบัตรหรือตราสารหนี้ของภาครัฐ จะไม่มีการจัดอันดับเครดิต เนื่องจากรัฐบาลมีความน่าเชื่อถือมากที่สุดและมีอำนาจสูงสุดในประเทศ สามารถเก็บภาษีเพื่อมาชำระหนี้คืน โอกาสที่จะเกิดการผิดนัดชำระน้อยที่สุด จึงไม่มีความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk Free) ขณะที่หุ้นกู้ซึ่งออกโดยบริษัทเอกชน มีโอกาสที่จะผิดนัดชำระหนี้ได้ เพราะความสามารถในการชำระหนี้ของแต่ละบริษัทอาจไม่เท่ากัน จึงต้องมีการจัดอันดับเครดิตโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ

ปัจจุบันบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือในไทย มีอยู่ 2 แห่งคือ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด (TRIS Rating) และ บริษัท ฟิทช์เรทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด (Fitch Rating Thaland) ที่จะวิเคราะห์ปัจจัยความเสี่ยง ทั้งด้านภาพรวมอุตสาหกรรม ธุรกิจของบริษัท และสถานภาพทางการเงินของบริษัทผู้ออกตราสารหนี้ เพื่อประเมินความสามารถของลูกหนี้ต่อการชำระหนี้ครบ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยตรงตามเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาได้หรือไม่

การจัดอันดับความน่าเชื่อถือทำได้ทั้งระดับองค์กร (Company Rating) และตัวตราสารหนี้ (Issue Rating) โดยการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับองค์กรนั้น จะประเมินจากโครงสร้างองค์กร ข้อมูลทางการเงิน แผนการธุรกิจของบริษัท เพื่อประเมินสถานะทางการเงินและศักยภาพในการหารายได้ของบริษัทผู้ออกตราสารหนี้ 

ในขณะที่การอันดับความน่าเชื่อถือของตัวตราสารหนี้ จะสะท้อนไปถึงความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยและจ่ายคืนคืนเงินต้นภายใต้ลักษณะเฉพาะตัวของตราสารหนี้แต่ละรุ่น ซึ่งสิ่งที่พิจารณา คือ เงื่อนไขของตราสารหนี้นั้นๆ เช่น สิทธิแฝง (Option Embedded Bond) ข้อกําหนดสิทธิ ลําดับสิทธิของการเรียกร้องในการชําระหนี้ (Secured or Non-secured Bond) สิทธิในการเลื่อนจ่ายดอกเบี้ย และการค้ำประกัน เป็นต้น 

อันดับความน่าเชื่อถือ อาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ดังนี้

img-bong-2-02

กลุ่ม Investment Grade (กลุ่มระดับลงทุน)

เป็นกลุ่มที่มีเรทติ้งในระดับที่น่าลงทุน เริ่มตั้งแต่ AAA หมายถึง อันดับความน่าเชื่อถือสูงสุด มีความเสี่ยงต่ำสุดที่จะไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ไล่ลงมาจนถึงระดับ BBB มีอันดับความน่าเชื่อถือปานกลางมีความสามารถในการชำระหนี้ได้ในเกณฑ์ปานกลาง

กลุ่ม Non-Investment Grade (กลุ่มต่ำกว่าระดับลงทุน)

หรือเรียกว่า Speculative Grade (กลุ่มที่ลงทุนเพื่อการเก็งกำไร) เป็นตราสารหนี้ที่จะให้ผลตอบแทนสูงซึ่งจะมีเรทติ้งตั้งแต่ BB ลงมาถือเป็นตราสารที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำลง มีความเสี่ี่ยงสูงขึ้นที่จะไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ส่วนเรตติ้ง C มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำที่สุด มีความเสี่ยงสูงที่สุดที่จะไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ขณะที่อันดับเครดิตต่ำที่สุด คือ D เป็นตราสารที่อยู่ในสถานะผิดนัดชำระหนี้ ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้นได้ตามกำหนด

กลุ่ม Unrated Bond (ไม่มีการจัดอันดับเครดิต)

เนื่องจากเป็นตราสารหนี้ที่ไม่ได้ส่งไปจัดอันดับ หรือเป็นตราสารหนี้ที่ขอให้จัดอันดับแล้ว แต่ไม่ได้รับการพิจารณา ซึ่งตราสารหนี้กลุ่มนี้จะจูงใจด้วยผลตอบแทนสูง แต่ก็แลกมาด้วยความเสี่ยงที่สูงมากเช่นเดียวกัน โดยจะเสนอขายเฉพาะให้แบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement) กับกลุ่มนักลงทุนสถาบันและบุคคลที่มีสินทรัพย์ 50 ล้านบาทขึ้นไป


ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัจจัยที่ช่วยในการตัดสินใจลงทุนตราสารหนี้ ซึ่งนักลงทุนควรมีการพิจารณาความเสี่ยงให้รอบด้านและติดตามข้อมูลข่าวสารประกอบก่อนตัดสินใจลงทุน เพราะอันดับเครดิตของตราสารหนี้สามารถปรับเปลี่ยนได้ หากสภาวะเศรษฐกิจหรือการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป