นักลงทุนมือใหม่หลายคนที่เพิ่งตัดสินใจลงทุนในตลาดหุ้น อย่างแรกที่พูดเป็นเสียงเดียวกันตลอด ก็คือ จะเลือกหุ้นยังไง ซื้อตัวไหนดีนะ แต่คำถามเหล่านี้ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะทำให้เห็นถึงความต้องการที่จะเลือกหุ้น อยากจะศึกษา ไม่ใช่ว่าจะซื้อไปมั่วๆ โดยที่ไม่รู้อะไรเลย สุดท้ายก็ต้องเจ็บตัวไปตามๆ กัน
งั้นถ้าอยากจะเริ่มต้นเลือกหุ้นเองแบบง่ายๆ ลองเริ่มจากการค้นหา “หุ้นพื้นฐานดี” ก่อนก็แล้วกัน เพราะว่าราคาของหุ้นพื้นฐานดีมักจะไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงตามสภาวะตลาดมากนัก นักลงทุนจึงแทบไม่ต้องกังวลกับภาวะเศรษฐกิจ หรือความผันผวนของตลาดหุ้นในระยะสั้นเลย ซึ่งดูได้จากประวัติการดำเนินงานในอดีตย้อนหลัง 3 – 5 ปี
หุ้นพื้นฐานดี หน้าตาเป็นอย่างไร
ธุรกิจมีความได้เปรียบด้านการแข่งขัน
ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเบอร์หนึ่งหรือเบอร์สองของอุตสาหกรรมนั้นๆ แต่ควรมีความสามารถหรือมีจุดแข็งในการแข่งขันกับคู่แข่ง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเติบโต ยิ่งเป็นธุรกิจที่มีคู่แข่งขันน้อยราย หรือหน้าใหม่เข้ามาในธุรกิจได้ยากก็ยิ่งดี เพราะบริษัทจะมีความได้เปรียบด้านการแข่งขันสูง
กิจการเติบโตต่อเนื่อง
บริษัทที่ดีควรมียอดขายหรือรายได้เติบโตต่อเนื่อง 3 - 5 ปี ซึ่งจะเป็นการการันตีว่าธุรกิจนี้ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อไปได้ ยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว ที่สำคัญคือ เป็นการสะท้อนถึงวิสัยทัศน์การดำเนินกิจการในอนาคตด้วย
มีกำไรอย่างสม่ำเสมอ ไม่มีปัญหาขาดทุน
บริษัทที่ดีควรมีกำไรสม่ำเสมอในทุกขั้นตอนการดำเนินงาน ตั้งแต่กำไรขั้นต้น เรื่อยไปจนถึงกำไรสุทธิ เราควรหลีกเลี่ยงบริษัทที่ขาดทุนต่อเนื่องหรือปีเว้นปี เพราะราคาจะปรับตัวขึ้นได้ยาก และอาจยังไม่มีเงินเหลือมาจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น แต่บางครั้งบริษัทก็อาจขาดทุนจากการนำเงินไปลงทุนเพิ่มเติม หรือนำเงินไปใช้หนี้ ซึ่งอาจส่งผลดีต่อบริษัทในระยะยาว จึงต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป
หนี้สินไม่เยอะ
การมีหนี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติในการดำเนินธุรกิจ แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือ การมีหนี้ระยะยาวมากเกินไป เพราะอาจมีปัญหาเรื่องการชำระหนี้ และเกิดปัญหาต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น หากวันใดขาดสภาพคล่องและไม่สามารถชำระหนี้ได้ จะเกิดปัญหาทันที
กำไรสะสมเพิ่มอย่างต่อเนื่อง
บริษัทที่บริหารงานดี มีกำไรสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะสะท้อนความสามารถในการบริหารต้นทุนการผลิต และประสิทธิภาพการจัดจำหน่ายที่ดี ทำให้กำไรต่อหน่วยสูงขึ้นตาม ก็ย่อมเป็นผลดีต่อนักลงทุน เพราะกำไรที่เพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลต่อเงินปันผลที่เพิ่มขึ้นด้วย และยังสามารถนำกำไรไปขยายกิจการให้เติบโตต่อไปได้อีก
ควบคุมต้นทุนการดำเนินงานได้ดี
การบริหารจัดการต้นทุนเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะต้นทุนจะส่งผลโดยตรงต่อกำไร ซึ่งนักลงทุนสามารถดูได้จากงบกำไรขาดทุน โดยกรณีที่ยอดขายเพิ่ม แม้ต้นทุนจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ก็ยังพอรับไหว แต่หากยอดขายลดลง สวนทางกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น คงยากเกินจะทำใจ แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีกำลังปัญหาในการดำเนินงาน
สภาพคล่องต้องดี
บริษัทที่ดีต้องมีเงินทุนหมุนเวียนในมือพอสมควร พูดง่ายๆ คือ มีสินทรัพย์หมุนเวียนมากกว่าหนี้สินหมุนเวียน เพื่อเตรียมพร้อมในการจ่ายหนี้ระยะสั้น รวมถึงสามารถขายสินค้าและเก็บเงินลูกหนี้ได้ในระยะเวลาที่เหมาะสมด้วย
ผู้บริหารต้องโปร่งใส และมีธรรมาภิบาล
ควรเลือกบริษัทที่โปร่งใส ผู้บริหารมีการดำเนินงานอย่างเปิดเผย บริหารบริษัทด้วยความซื่อตรง ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่ขยันให้ข่าวหรือเข้ามายุ่งกับการซื้อขายหุ้นเพื่อเก็งกำไรมากเกินไป รวมถึงไม่มีข่าวในเชิงลบบ่อยๆ
เหล่านี้คือ... คุณสมบัติเบื้องต้นของ หุ้นพื้นฐานดี น่าลงทุน
หากนักลงทุนสามารถค้นหาหุ้นแบบนี้เจอ เชื่อว่านักลงทุนคงเข้าใจธุรกิจของบริษัทเป็นอย่างดี แถมยังมองเห็นอนาคตอันรุ่งโรจน์ของกิจการอยู่รำไร ความฝันที่จะประสบความสำเร็จในการลงทุนคงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม