หากเราเป็นคนหนึ่งที่มีประสบการณ์การลงทุนน้อย มีเงินลงทุนไม่มากนัก แถมไม่มีเวลาติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด แต่ใจเราอยากลงทุนแล้ว “กองทุนรวม” อาจเป็นคำตอบที่ดีที่สุด เพราะถือเป็นทางเลือกอันดับต้นๆ ที่จะช่วยต่อยอดเงินออม สร้างผลตอบแทนที่ดีกลับมาให้เราได้
แต่ก่อนอื่นต้องทำความรู้จักกับ “กองทุนรวม” ว่าคืออะไร?
ซึ่งกองทุนรวมหรือ Mutual Fund ก็คือ การระดมเงินลงทุนจากคนจำนวนมาก และนำไปจดทะเบียนให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล เพื่อตั้งเป็นกองทุนขึ้นมา โดยเงินที่ได้รับนั้นจะมี “ผู้จัดการกองทุน” ที่เป็นมืออาชีพนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ตามนโยบายของแต่ละกองทุน เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่งอกเงย แล้วนำมาเฉลี่ยคืนให้กับผู้ลงทุนแต่ละรายตามสัดส่วนเงินที่ลงทุนนั่นเอง
มือใหม่เริ่มลงทุนกองทุนรวมอย่างมั่นใจได้ เพราะ...
มี “มืออาชีพ” ดูแล
ดูแล บริหารจัดการกองทุนตามนโยบายการลงทุนที่กำหนดไว้
มีการกระจายการลงทุน
ช่วยลดความเสี่ยงได้
มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย
เลือกได้ตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และผลตอบแทนที่คาดหวัง
มีสภาพคล่องสูง
สามารถขายคืนเพื่อรับเป็นเงินสดได้
ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี
เพราะรายได้ของกองทุนรวม “ไม่เสียภาษีเงินได้” เราจึงได้รับผลประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย แถมเงินลงทุนในกองทุนรวมบางประเภท ยังนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
ในส่วนของผลตอบแทนนั้น จะอยู่ในรูปแบบ ส่วนต่างกำไร (Capital Gain) หรือ เงินปันผล (Dividend) โดยผู้ลงทุนจะได้รับส่วนต่างกำไรก็ต่อเมื่อขายคืนหน่วยลงทุนได้ในราคาที่สูงกว่าราคาที่ซื้อมา เพราะกองทุนรวมมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) เพิ่มมาจากการลงทุนนั่นเอง ในขณะที่ หากลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล ก็จะได้รับเงินปันผลซึ่งจะคำนวณตาม อัตราการจ่ายเงินปันผล คูณกับ จำนวนหน่วยลงทุนที่เราเป็นเจ้าของนั่นเอง
ถ้าพร้อมแล้ว... ลองทำตาม
“3 ขั้นตอน เลือกกองทุนฉบับมือใหม่” กันเลยดีกว่า
เริ่มจากวิธีง่ายๆ ด้วยการระบุประเภทและนโยบายการลงทุนของกองทุนรวมที่ตรงกับเป้าหมายการลงทุนของเรา จากนั้นก็กำหนดเงื่อนไขการคัดกรองกองทุน เช่น ชื่อ บลจ. การจ่ายเงินปันผล ระดับความเสี่ยง จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ เป็นต้น โดยระบบจะคัดกรองและแสดงเฉพาะรายชื่อกองทุนรวมที่ตรงตามเงื่อนไขตามที่เราต้องการ ที่เหลือจะเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องไปศึกษาข้อมูลเชิงลึกของกองทุนรวมเหล่านั้นต่อ
ทดลองคัดกรองกองทุนรวมได้ที่ www.aimc.or.th และ www.morningstarthailand.com
เมื่อเราได้กองทุนรวมที่ตรงตามความต้องการแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะต้องศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลของกองทุนรวมนั้นๆ โดยละเอียด จาก “หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุน” และ “Fund Fact Sheet” เพราะเป็นเหมือน “คัมภีร์” ที่บอกรายละเอียดทุกอย่างของกองทุนรวมนั้นๆ ซึ่งเราสามารถหาข้อมูลได้จากเว็บไซต์ของ บลจ. ที่เสนอขายกองทุนนั่นเอง
สุดท้ายนี้ก่อนที่เราจะตัดสินใจลงทุน อย่าลืม...
ทำความรู้จักกับตัวเองให้แน่แท้เสียก่อนว่า รับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน เข้ามาลงทุนเพื่ออะไร เข้าใจสภาวะการลงทุนดีพอหรือไม่ และต้องติดตามผลด้วยว่า กองทุนรวมที่เราลงทุนมีผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร โดยเปรียบเทียบผลการดำเนินงานกับเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) หรือผลการดำเนินงานของกองทุนที่มีนโยบายเดียวกันของ บลจ. อื่นด้วย