ขอแค่เปิดใจ จะรู้ว่า “อนุพันธ์” ไม่ใช่เรื่องไกลตัว

โดย ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย)
3 Min Read
26 พฤศจิกายน 2563
1.437k views
TSI_Article_099_Inv_Thumbnail
Highlights
  • “อนุพันธ์” เป็นสัญญาทางการเงินที่ทำขึ้นในปัจจุบันเพื่อตกลงซื้อขายหรือให้สิทธิในการซื้อขายสินค้าอ้างอิงในอนาคต พูดง่ายๆ คือ ผู้ซื้อและผู้ขายทำสัญญาตกลงกันวันนี้ว่าจะซื้อหรือขายสินค้าอ้างอิงจำนวนกี่หน่วย ที่ราคาเท่าใด แล้วจะส่งมอบและชำระราคากันเมื่อใด

  • การลงทุนในอนุพันธ์จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง หากเข้าใจหลักในการตัดสินใจลงทุนและความเสี่ยง ดังนั้น นักลงทุนควรศึกษาและทำความเข้าใจอนุพันธ์แต่ละประเภทให้ดีก่อนเริ่มลงทุน

ก่อนอื่นอยากให้เข้าใจหลักการว่า “อนุพันธ์ไม่ใช่สินทรัพย์ลงทุน แต่เป็นเครื่องมือทางการเงินเพื่อลดความเสี่ยงให้กับสินทรัพย์ลงทุนหรือพอร์ตลงทุน”


คำว่า “เครื่องมือ” อยากให้นึกถึงค้อน ตะปู จอบ เสียม ที่เราไม่จำต้องพกติดตัวตลอดเวลา แต่จะวางไว้ในที่สามารถหยิบจับได้สะดวกเพื่อนำมาใช้ในยามที่ต้องการ เพราะฉะนั้น ในทางทฤษฎีเราไม่ควรนำอนุพันธ์ ไม่ว่าจะเป็น Futures หรือ Options มาใช้เพื่อเก็งกำไรตลอดเวลา หรือยึดถือเป็นแนวทางเพื่อมุ่งสู่อิสรภาพทางการเงินในระยะยาว


แน่นอนว่า... นักลงทุนหลายท่านพอได้ยินคำว่า “อนุพันธ์” ก็รู้สึกว่ายากแล้ว แต่เมื่อพิจารณาจากสิ่งใกล้ตัว ทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับการลงทุน กลับพบว่ามีหลายกรณีที่มีลักษณะใกล้เคียงกับอนุพันธ์


ตัวอย่างเช่น การจองห้องพักกับรีสอร์ทแห่งหนึ่งในงานมหกรรมการท่องเที่ยว โดยจะไปพัก 3 คืน ช่วงปลายปี แต่ยังไม่ระบุวันเข้าพัก ค่าที่พักแบบวิลล่าหลังละ 2,500 บาทต่อคืน มีรถรับส่งเพื่อไปท่าเรือฟรี เงื่อนไข คือ ต้องจ่ายค่าจองคืนละ 500 บาททันที จึงตัดสินใจจ่ายเงินไป 1,500 บาท (ที่เหลืออีก 2,000 บาท ค่อยจ่ายตอนไปพักจริง)


พอถึงใกล้สิ้นปี มีโอกาสเข้าไปดูเว็บไซต์รีสอร์ทแห่งนี้ พบว่าห้องพักที่จองไว้ปรับราคาขึ้นเป็น 4,500 บาทต่อคืน จึงตัดสินใจขายใบจองห้องพักที่จ่ายไปคืนละ 500 บาท ในราคา 1,000 บาทต่อคืน จึงได้เงินมาทั้งสิ้น 3,000 บาท หรือคิดเป็นผลตอบแทน 100% ในทางตรงข้าม หากขายใบจองไม่ออกภายในวันที่สามารถไปใช้สิทธิได้ ก็ต้องรับสภาพ ยอมขาดทุนไปทั้งหมด 1,500 บาท


แนวคิดการใช้เงินลงทุนน้อย แต่มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงหรือขาดทุนสูง
เช่นตัวอย่างที่กล่าวมานี้ ถือเป็นจุดเด่นสำคัญที่นักลงทุนนำอนุพันธ์มาใช้เพื่อเก็งกำไรมากกว่าป้องกันความเสี่ยง  


จะว่าไป... ก็เป็นเรื่องที่ยุติธรรมดี เนื่องจากมีสิทธิเลือกว่าจะไปพักเมื่อไหร่ก็ได้ภายในราคา เวลา และเงื่อนไขที่รีสอร์ทกำหนดไว้ หรืออาจจะขายทำกำไรในสิทธินั้นออกไปหากมีคนสนใจ


เมื่อความได้เปรียบอยู่กับเรา ทางรีสอร์ทจึงต้องคิดค่าสิทธิเล็กน้อย ซึ่งผลจากการล็อคสิทธิแบบให้จองล่วงหน้า โดยไม่ได้บังคับให้ผู้ถือใบจองต้องใช้สิทธินั้น จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับออปชัน (Options) ที่เป็นแบบคอลออปชัน หรือสิทธิในการซื้อสินค้าหรือบริการในอนาคต


สังเกตง่ายๆ ถ้าใช้สิทธิ แล้วเราต้องเป็นคนจ่ายเงินเพื่อแลกกับสินค้าหรือบริการในราคาที่ตกลงกัน นั่นคือ Call Options (Call แปลว่า เรียก ให้คิดว่าเมื่อเรามีการใช้สิทธิ เราถูกเรียกเงิน) แต่ถ้าใช้สิทธิ แล้วเราเป็นคนที่ต้องขายสินค้าหรือบริการนั้นๆ เพื่อแลกกับเงินในราคาที่ตกลงกัน เรียกว่า Put Option (Put แปลว่า วาง ให้คิดว่าเมื่อเราใช้สิทธิ เราต้องวางสินค้าหรือบริการที่เราอยากขาย)


ส่วนตัวอย่างของ Put ที่เห็นได้ชัดสุดคงเป็น “การซื้อประกันภัยรถยนต์” ถ้าไม่เจออุบัติเหตุ ก็จะไม่ได้ใช้สิทธิเคลมประกัน และเมื่อสิทธิหมดอายุลงก็ต้องซื้อประกันใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่จะคุ้มครองกันปีต่อปี แต่ถ้าเกิดถอยรถชนกระถางต้นไม้ คราวนี้แหละที่จะได้ใช้สิทธิเคลม และไหนๆ เคลมแล้วก็ขอเคลมรอบคันเลยแล้วกัน ซึ่งบริษัทประกันจะเป็นผู้จ่ายเงินแทนทั้งหมด เสมือนเราได้เงินจากบริษัทประกันไปส่งต่อให้กับอู่ซ่อม แต่ต้องแลกกับสินค้าที่หายไป (เปรียบได้กับสภาพรถที่ไม่เหมือนเดิม)  


ขณะที่ตัวอย่างของ Futures ที่เคยเห็น คือ “สัญญาจะซื้อจะขายบ้านหรือคอนโดมิเนียม” ซึ่งส่วนใหญ่จะมีการซื้อขายกันจริง เพราะไม่อยากถูกยึดเงินดาวน์หรือเงินมัดจำ เพียงแต่ต้องรอการอนุมัติเงินกู้จากธนาคาร ซึ่งระหว่างนี้ผู้ซื้อไม่มีสิทธิมองคอนโคมิเนียมห้องอื่น


ขณะที่ผู้ขายก็ต้องปฏิเสธผู้ซื้อรายใหม่เช่นกัน จนกว่าสัญญานี้จะหมดอายุหรือถูกหักล้างด้วยรูปแบบอื่น เช่น เราเปลี่ยนใจไม่อยากซื้อคอนโดมิเนียมนี้แล้ว แต่สามารถหาผู้ซื้อรายใหม่มาซื้อแทนได้ หรือเป็นการขายสัญญานี้ออกไปนั่นเอง ซึ่งผู้ขายก็ไม่น่าว่าอะไร เพราะเขาไม่ได้เสียประโยชน์ ส่วนเราอาจจะได้กำไรหรือขาดทุนจากเงินดาวน์หรือเงินวางมัดจำก็ได้


ประเด็นที่น่าสนใจ คือ กรณีเป็นคอนโดมิเนียมสร้างใหม่ จะเห็นว่าเจ้าของโครงการยังสร้างไม่เสร็จ (หรืออาจมีเพียงแค่ที่ดิน ยังไม่มีห้องตัวอย่างให้เห็น) ก็สามารถทำสัญญาจะซื้อจะขายได้แล้ว เสน่ห์อย่างหนึ่งของอนุพันธ์ คือ การที่นักลงทุนสามารถลงทุนได้ 2 ฝั่ง ทั้ง “ซื้อก่อนค่อยขาย” ซึ่งเป็นกรณีปกติทางการค้าทั่วไป หรือ “ขายก่อนค่อยซื้อ” โดยที่ยังไม่ต้องมีของ ซึ่งจะทำให้นักลงทุนไม่พลาดในทุกจังหวะหรือโอกาสการทำกำไร หากสามารถคาดการณ์ทิศทางได้อย่างแม่นยำ


จากตัวอย่างทั้งหมด มีจุดสังเกตหลักๆ คือ

  1. ใช้เงินลงทุนน้อย เพราะจ่ายเพียงค่าสิทธิจองห้องพัก หรือค่ามัดจำสัญญาจะซื้อจะขายคอนโดมิเนียม
  2. สามารถเป็นได้ทั้งผู้จะซื้อและผู้จะขาย โดยยังไม่ต้องมีสินทรัพย์หรือสินค้าและบริการอยู่ในมือ ไม่เหมือนการลงทุนในหุ้น (ยกเว้นธุรกรรมยืมหุ้นคนอื่นมาขายไปก่อน แล้วค่อยซื้อมาคืนเพื่อทำกำไรในตลาดขาลง หรือ SBL) หรือการทำธุรกิจจริงที่ต้องจ่ายเงินซื้อสินทรัพย์ไปก่อน และค่อยขายเพื่อรับรู้กำไร


ถ้าเจอรูปแบบการลงทุนหรือการเก็งกำไรใดที่ใกล้เคียงจุดเด่นของอนุพันธ์ 2 ข้อดังกล่าวให้นักลงทุนสันนิษฐานไว้ก่อนว่า... กำลังเข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกรรมที่คล้ายอนุพันธ์แล้ว

สำหรับใครที่สนใจอยากเริ่มลงทุนในอนุพันธ์ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ลงทุนอนุพันธ์ฉบับมือใหม่” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: