เตรียมตัวเกษียณ ฉบับชาว LGBTQ+

โดย เจษฎา เจริญสันติพงศ์ Assistant Manager Branch Banking Client Marketing บลจ.ธนชาต
3 Min Read
8 ธันวาคม 2564
2.115k views
PF_เตรียมตัวเกษียณ ฉบับชาว LGBTQ+_Thumbnail
Highlights

ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเลือกใช้ชีวิตแบบไหนก็ควรวางแผนการเงินให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง เพราะทุกคนต่างต้องการมีอนาคตที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาว LGBTQ+ ที่อาจต้องเจอข้อจำกัดของชีวิต ยิ่งต้องวางแผนการเงินและวางแผนชีวิตอย่างรัดกุม แต่ถ้าเริ่มต้นวางแผนตั้งแต่เนิ่น ๆ ชีวิตบั้นปลายก็จะมีความสุขกาย สบายใจ ใช้ชีวิตอย่างไร้กังวล

จากการสำรวจของ Spotlight on Thailand เมื่อปี 2561 พบว่าคนไทยกว่า 85% มีเงินไม่เพียงพอที่จะเกษียณและไม่มีการวางแผนเกษียณหรือเตรียมตัวใด ๆ ซึ่งเหตุผลหลัก ก็คือ การขาดความรู้เรื่องการลงทุนเพื่อวัยเกษียณ จึงไม่ได้เก็บเงินและแบ่งเงินมาลงทุนเพื่อต่อยอด ทำให้พลาดโอกาสในการสร้างผลตอบแทนระยะยาวที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร

 

ดังนั้น การเริ่มต้นวางแผนเกษียณหากยิ่งช้าจะยิ่งทำให้การเกษียณอย่างมีความสุขเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะในภาวะที่ดอกเบี้ยต่ำเช่นนี้ การเก็บเงินและฝากธนาคารไว้เพียงอย่างเดียวเพื่อให้เพียงพอสำหรับวัยเกษียณจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก

 

และถ้าเอ่ยถึงการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามต่างมีเป้าหมายที่เหมือนกัน นั่นคือ มีเงินใช้จ่ายอย่างเพียงพอในยามเกษียณ และสำหรับชาว LGBTQ+ ซึ่งอาจมีข้อจำกัดของชีวิตยิ่งต้องมีแผนการเงินให้ชัดเจน ถึงแม้จะมีสวัสดิการต่าง ๆ แต่ถ้าหลังเกษียณไปแล้วต้องการใช้ชีวิตเพื่อตอบโจทย์รูปแบบวิถีชีวิตของตัวเองก็ต้องเริ่มต้นกันตั้งแต่เนิ่น ๆ

 

สถาบัน UCLA School of Law ในสหรัฐอเมริกา ได้ทำการเก็บสถิติชาว LGBTQ+ ในสหรัฐฯ พบว่า 22% ของผู้ตอบแบบสอบถามยอมรับว่าตัวเอง “มีคุณภาพชีวิตอยู่ในความยากจนในช่วงวัยเกษียณ”

 

ตัดภาพมาที่ประเทศไทย ถึงแม้ว่าจะไม่มีการเก็บสถิติอย่างเป็นทางการ แต่การเตรียมพร้อมเพื่อวัยเกษียณของชาว LGBTQ+ อาจจะต้องเจอข้อจำกัดของชีวิต จึงจะชวน ชาว LGBTQ+ มามองตัวเองในอีก 30 ปีข้างหน้าว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้และไม่มีการวางแผนเพื่อเกษียณจะเป็นอย่างไร และถ้าวางแผนแล้วจะเป็นอย่างไร

  • หากเกิดการเจ็บป่วยหนักแบบกระทันหันในอนาคต จะทำอย่างไร

        การเจ็บป่วยเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยากและหนีไม่พ้น ยิ่งอายุเพิ่มขึ้นโรคต่าง ๆ ยิ่งถามหา ยังไม่นับในปัจจุบันที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และความเสี่ยงที่เกิดจากการทำศัลยกรรมหรือปัญหาที่เกิดจากการแปลงเพศ ดังนั้น ถ้าเกิดปัญหาเรื่องการเจ็บป่วยขึ้นมาแต่มีการวางแผนเกษียณเอาไว้ เช่น ทำประกัน ซึ่งในกรณีนี้เป็นเรื่องของการเจ็บป่วยหรือประกันสุขภาพก็จะช่วยปกป้องความมั่งคั่งไม่ให้ลดลงได้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายเรื่องการรักษาพยาบาล ค่าห้อง ค่ายา ต้องใช้เงินด้วยกันทั้งนั้น ยิ่งถ้าหากเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน ค่าใช้จ่ายจะยิ่งสูงขึ้น แต่ประกันสุขภาพจะช่วยในเรื่องค่าใช้จ่ายจึงไม่กระทบกับเงินเก็บ ซึ่งจะทำให้มีเงินเหลือใช้และเป็นไปตามแผนที่วางไว้

 

ตรงกันข้าม ถ้าไม่มีการวางแผนการเงิน ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลอาจหมายถึงการต้องนำเงินเก็บมาจ่ายค่ารักษา ค่ายา ค่าห้อง และยิ่งรักษากับโรงพยาบาลเอกชนยิ่งต้องใช้เงินค่อนข้างสูง ทำให้อาจมีเงินไม่พอใช้จ่ายในอนาคตได้  

 

  • วันที่ไม่มีเงินเดือน จะอยู่อย่างไร

        ในวันที่เกษียณจากการทำงานและไม่มีรายได้ ชาว LGBTQ+ จะต้องใช้ชีวิตอย่างไรหากไม่มีลูกหลานคอยดูแล ถ้ามีการวางแผนการเงินเพื่อเกษียณตั้งแต่เนิ่น ๆ ด้วยการเริ่มเก็บออมเงินอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ รู้ว่าจะเกษียณเมื่ออายุเท่าใด หลังจากเกษียณจะมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง จะนำเงินมาจากไหนเพื่อใช้จ่าย และเงินเหล่านั้นเพียงพอหรือไม่ แต่ถ้าไม่มีการวางแผนเพื่อการเกษียณหรือเก็บเงินบ้าง ไม่เก็บบ้าง เมื่อถึงวันเกษียณอาจมีเงินไม่พอใช้ไปตลอดช่วงอายุเกษียณ

 

  • อนาคตเป็นเรื่องไม่แน่นอน การส่งต่อเป็นเรื่องสำคัญ

       ถ้าหากเสียชีวิต ชาว LGBTQ+ ที่มีคู่รักคงไม่ต้องการให้คู่ของตัวเองที่ดูแลกันมาต้องลำบากเมื่ออายุมาก ดังนั้น เพื่อตัดความกังวลในอนาคต การวางแผนเกษียณโดยปกติจะมีเพียงการวางแผนภาษีมรดก แต่ในกรณีของชาว LGBTQ+ ที่เพิ่มขึ้นมาจากทั่วไปนั้น คือ เรื่องของพินัยกรรมและประกันชีวิต โดยปัจจุบัน ประกันชีวิตสามารถระบุให้ “คนรัก” เป็นผู้รับผลประโยชน์หลังจากผู้ทำประกันเสียชีวิตแล้วได้ แต่ถ้าไม่เคยวางแผนก็อาจมีปัญหาเรื่องทรัพย์สินได้ถ้าไม่มีการทำพินัยกรรมระบุการส่งมอบมรดกเอาไว้ 

 

การทำพินัยกรรม ให้เก็บบันทึกรายการทรัพย์สินและทำบัญชีหนี้สินอย่างสม่ำเสมอ เมื่อได้รายการทรัพย์สินทั้งหมดแล้วก็ให้จัดสรรทรัพย์สินที่ต้องการมอบและบุคคลที่ต้องการให้ระบุไว้ในพินัยกรรมอย่างชัดเจน ซึ่งสามารถเขียนและลงชื่อด้วยตัวเองได้ หรือทำเป็นพินัยกรรมแบบเอกสารและยื่นต่อนายอำเภอก็สามารถทำได้เช่นกัน

 

ชาว LGBTQ+ คงจะพอเห็นภาพแล้วว่าระหว่างการวางแผนการเงินเพื่อเกษียณและการไม่วางแผนนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร รวมถึงสิ่งที่เพิ่มเติมสำหรับผู้ที่มีคู่รัก คงไม่อยากให้คนที่เรารักนั้นลำบากถ้าหากเราจากไป เพราะฉะนั้นยิ่งเริ่มต้นวางแผนเกษียณเร็วเท่าไหร่ โอกาสเกษียณสุขก็มีมากและเป็นไปได้ง่ายขึ้นเท่านั้น


สำหรับใครที่สนใจอยากเริ่มวางแผนเกษียณ แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนเกษียณ สไตล์มนุษย์เงินเดือน” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หรือเรียนรู้เทคนิคและวิธีการบริหารจัดการเงินหลังเกษียณ เพื่อเตรียมพร้อมก้าวสู่ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนการเงินหลังเกษียณ สไตล์วัยเก๋า” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่
แท็กที่เกี่ยวข้อง: