ในช่วงที่ผ่านมา นักลงทุนได้สัมผัสถึงราคาของสินค้าและบริการที่ปรับสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมัน ราคาเครื่องดื่ม หรือราคาอาหารสด และเนื้อสัตว์บางชนิด ซึ่งในทางการเงินเรียกว่า “ภาวะเงินเฟ้อ” และคงจะพอทราบว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกกำลังปรับสูงขึ้น
หนึ่งในสาเหตุหลัก คือ ประเทศผู้นำโลกอย่างสหรัฐอเมริกาที่มีขนาดเศรษฐกิจสัดส่วนราว 1 ใน 4 ของโลก ในช่วงเกิดการแพร่ระบาด COVID-19 มีการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนอยู่ในระดับต่ำและอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบอย่างมหาศาล ทำให้งบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น รวมถึงการใช้มาตรการทางการคลังผ่านการอัดฉีดเงินสนับสนุนในโครงการต่าง ๆ เพื่อพยุงเศรษฐกิจ
ทว่า เมื่อการแพร่ระบาด COVID-19 เริ่มบรรเทาลง อัตราการฉีดวัคซีนของผู้คนในประเทศสูงขึ้น ประชาชนเริ่มออกมาจับจ่ายใช้สอย มีความต้องการซื้อสินค้าและบริการมากขึ้นหลังจากที่อยู่บ้านมานาน ขณะที่สินค้าและบริการที่มีอาจไม่เพียงพอกับความต้องการ เนื่องจากกำลังการผลิตหยุดชะงักในช่วงการแพร่ระบาด จึงเป็นสาเหตุให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น
สถานการณ์เช่นนี้ ในทางทฤษฎีเรียกว่า Demand-pull Inflation ขณะที่ต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้น จะเรียกว่า Cost-push Inflation เช่น พลังงาน หรือราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ อาจเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตต้องผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นนี้ไปให้ผู้บริโภค และยิ่งมีสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนเป็นตัวเร่ง ทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคที่บ่งชี้ถึงอัตราเงินเฟ้อในเดือนมกราคม 2565 ของสหรัฐฯ แตะที่ระดับ 7.5% นับเป็นอัตราที่สูงสุดในรอบ 40 ปี
เมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้และประเมินว่าโลกกำลังเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อ ในฐานะนักลงทุนต้องตั้งคำถามว่าจะลงทุนอย่างไร เพื่อสร้างผลตอบแทนในภาวะดังกล่าว ทั้งนี้ ในบทความนี้จะเล่าถึงการลงทุนใน ETFs ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยแบ่งออกเป็น 2 หมวด ได้แก่
1. สินทรัพย์ที่ได้ประโยชน์ในเชิงพื้นฐานจากภาวะเงินเฟ้อ
แน่นอนว่าการที่อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วคงไม่ใช่เรื่องที่ธนาคารกลางแต่ละประเทศชื่นชอบ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อจะเป็นตัวขัดขวางการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ ดังนั้น ธนาคารกลางจึงต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นตามไปด้วย และทำให้ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ซึ่งเป็นมาตรวัดความสามารถในการสร้างรายได้ของธนาคารปรับเพิ่มขึ้น โดย ETFs กลุ่มธนาคารที่น่าสนใจ เช่น Vanguard Financials Index Fund ETF (VFH) มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิภายใต้การจัดการ (AUM) ราว 12.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และเป็น ETFs ที่อิงดัชนี MSCI US Investable Markets Financials 25/50 Index ซึ่งลงทุนในธนาคารและธุรกิจที่เกี่ยวกับการเงินในสหรัฐอเมริกา
2. สินทรัพย์ที่ผลตอบแทนมีแนวโน้มเคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกับอัตราเงินเฟ้อ
ภาวะเงินเฟ้อส่งผลให้ต้นทุนในการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ ทั้งค่าแรงและวัสดุก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาขายของอสังหาริมทรัพย์เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยผู้ที่ได้รับประโยชน์ คือ ผู้ที่ถือครองอสังหาริมทรัพย์ อีกทั้ง ค่าเช่าต่าง ๆ เช่น ที่ดิน อาคารสำนักงาน จะได้รับประโยชน์ด้วย โดย ETFs กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่น่าสนใจ เช่น Vanguard Global ex-U.S. Real Estate ETF (VNQI) มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิภายใต้การจัดการ (AUM) ราว 4.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และเป็น ETFs ที่อิงดัชนี S&P Global Broad Market ที่เน้นลงทุนใน REITs และบริษัทจัดการและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก (ยกเว้นในสหรัฐอเมริกา)
ถัดมา คือ น้ำมันดิบ โดยในทางเทคนิคแล้วน้ำมันดิบมีการเคลื่อนไหวสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ โดยการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบซึ่งเป็นต้นทุนในการผลิตสินค้าเกือบทุกชนิด ทั้งในแง่ของค่าขนส่ง และพลังงานที่ใช้ในการผลิตสินค้า ดังนั้น การลงทุนในน้ำมันดิบจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ โดย ETFs ที่ลงทุนในน้ำมันดิบที่น่าสนใจ เช่น Invesco DB Oil Fund (DBO) มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิภายใต้การจัดการ (AUM) ราว 0.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบ West Texas Intermediate (WTI) โดยอิงดัชนี DBIQ Optimum Yield Crude Oil Index Excess Return
และสินทรัพย์ที่ได้รับประโยชน์และเป็นที่รู้จักของคนไทย คือ ทองคำ ที่มีคุณสมบัติเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) นักลงทุนจึงนิยมใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ ช่วงเกิดวิกฤติ หรือภาวะเศรษฐกิจซบเซา นอกจากการลงทุนผ่านทองคำแท่ง หรือกองทุนรวมทองคำ การลงทุนใน ETFs ทองคำ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ เช่น SPDR Gold Trust (GLD) มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิภายใต้การจัดการ (AUM) ราว 62 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็น ETFs ที่ลงทุนในทองคำแท่งและเก็บไว้ในตู้นิรภัย คิดเป็นสัดส่วนราว 100% ของสินทรัพย์รวมทั้งหมดของกองทุน
ถึงแม้ว่าภาวะเงินเฟ้อจะเป็นปัจจัยขัดขวางการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ยังมีสินทรัพย์บางประเภทที่น่าสนใจ เช่น ETFs ดังนั้น หากนักลงทุนปรับพอร์ตลงทุนเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะที่เปลี่ยนแปลงก็จะเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนมือใหม่หรือผู้ที่สนใจ อยากลงทุนในกองทุนรวม ETF แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร สามารถเรียนรู้ลักษณะพื้นฐาน ผลตอบแทนและความเสี่ยง สิทธิประโยชน์ทางภาษี และวิธีซื้อขายกองทุน ETF พร้อมเทคนิคการลงทุนอย่างมืออาชีพ ผ่าน e-Learning หลักสูตร “รอบรู้ลงทุน ETF” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่