วางกลยุทธ์ลงทุน เมื่อเศรษฐกิจไม่ No Landing

โดย สุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์
2 Min Read
19 เมษายน 2566
1.07k views
Inv_วางกลยุทธ์ลงทุน เมื่อเศรษฐกิจไม่ No Landing_Thumbnail
Highlights
  • No Landing Scenario คือ สถานการณ์ที่เศรษฐกิจไปต่อได้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังสูง และอัตราดอกเบี้ยยังขึ้นได้ต่อเนื่อง โดยสถานการณ์เช่นนี้ จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง

  • จากการประเมินเชื่อว่าสถานการณ์ No Landing ไม่น่าจะเกิดขึ้น แต่เงินเฟ้อและเศรษฐกิจยังเป็นความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องจับตา รวมถึงต้องปรับกลยุทธ์การลงทุนให้เข้ากับสถานการณ์เพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน

ย้อนกลับไปช่วงต้นปี 2566 เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาอยู่ในเกณฑ์ที่ดี สังเกตได้จากตัวเลขตลาดแรงงานออกมาดีกว่าคาดอย่างมาก ทำให้อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบกว่า 50 ปี ส่วนยอดค้าปลีกฟื้นตัวอย่างชัดเจน ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังสูงต่อเนื่อง แม้ว่าภาวะการเงินจะตึงตัวก็ตาม ทำให้ธนาคารกลางยังจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไป เพื่อลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ ซึ่งสถานการณ์ลักษณะนี้ เรียกว่า No Landing Scenario คือ เศรษฐกิจเติบโตต่อไปได้ อัตราเงินเฟ้อยังสูง อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม จากนี้ไปประเมินว่า No Landing Scenario ไม่น่าจะเกิดขึ้น ด้วยเหตุผล 2 ประการ

 

  1. การผลิตภาคอุตสาหกรรมโลกในเดือนธันวาคม ปี 2565 ชะลอลงในระดับใกล้เคียงกับก่อนเกิดวิกฤติ COVID-19 ซึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนค่าครองชีพ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมลดลง ทำให้ภาคอุตสาหกรรมยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง ตามทิศทางนโยบายการเงินที่จะยังคงเข้มงวด ประกอบกับเงินออมของประชาชนที่เริ่มหมดลง ขณะที่สินค้าคงคลังที่ยังเหลืออยู่จากการเร่งผลิตในช่วงก่อนหน้า ทำให้ผู้ประกอบการจะไม่รีบกลับมาเร่งการผลิตอีกครั้ง ซึ่งจะกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศและการลงทุนภาคเอกชนในระยะถัดไป

 

  1. การปรับเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อช่วงเดือนมกราคม ปี 2566 เป็นปัจจัยชั่วคราวจากการเปิดประเทศของจีน ทำให้แรงกดดันต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น แต่ปัจจุบันราคาสินค้าโภคภัณฑ์เริ่มปรับลดลงซึ่งช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อ ประกอบกับต้นทุนทางการเงินที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา 10 ปี ทำให้ต้นทุนทางการเงินภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาชะลอลงตามทิศทางเศรษฐกิจโลก ช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อได้ระดับหนึ่ง

 

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต้องจับตาแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะหากมีสัญญาณชัดเจนว่าอัตราเงินเฟ้อจากภาคความต้องการซื้อ (Demand Pull) เพิ่มสูงขึ้น อาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแรงและยาวนานขึ้น และนำไปสู่ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในระยะถัดไป

 

กลยุทธ์การลงทุน

จากสถานการณ์ปัจจุบัน คาดว่าจะเห็นสัญญาณบางอย่างที่บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนทำจุดต่ำสุดแล้ว พร้อมกับผลกระทบอย่างเต็มที่จากการเปิดประเทศของจีน โดยเหตุการณ์สำคัญในไตรมาส 2 ของปีนี้ที่จะกระตุ้นให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลง ได้แก่ นโยบายการเงินที่เริ่มลดระดับการตึงตัวหรือเฟดกลับทิศนโยบาย (Fed Pivot) และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว รวมถึงค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าจะส่งผลดีต่อสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะตลาดหุ้นในประเทศเกิดใหม่

 

โดยภาพที่นักลงทุนไทยจะเห็นในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ คือ อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับสูงสุด ขณะเดียวกันจะได้เห็นผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนอยู่ในระดับต่ำสุด หมายความว่า หากผ่านสถานการณ์ดังกล่าวจะเข้าสู่ภาวะผ่อนคลาย และจะมีปัจจัยบวกเข้ามาหนุนให้การลงทุนกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง ซึ่งหากเป็นไปตามที่ประเมินจะเห็นตลาดหุ้นไทยเข้าสู่จุดต่ำสุด ดังนั้น จึงแนะนำให้นักลงทุน “เข้าซื้อสะสมหุ้นเติบโตสูง” เนื่องจากคาดว่าตลาดจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังปี 2566

 

สำหรับลักษณะเด่นของหุ้นที่จะช่วยสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าตลาดในไตรมาส 2 ของปีนี้ ได้แก่ บริษัทที่มีงบดุลแข็งแกร่ง ซึ่งจะช่วยป้องกันผลกระทบจากปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนสูงและความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก บริษัทที่ได้รับประโยชน์จากการเปิดประเทศของจีน และบริษัทที่ผลประกอบการฟื้นตัวจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นและต้นทุนการดำเนินงานลดลง

 

โดยสรุป ประเมินว่า No Landing Scenario ไม่น่าจะเกิดขึ้น แต่เงินเฟ้อและเศรษฐกิจจะยังเป็นความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องวางกลยุทธ์การลงทุนอย่างระมัดระวัง

 

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ ค้นหาหุ้นดี น่าลงทุนด้วย Stock Screening เพื่อให้ได้หุ้นดี โดนใจ โดยไม่ต้องใช้เวลาค้นหานาน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร Stock Screening ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: