จัดพอร์ตลงทุน ต้อนรับเศรษฐกิจถดถอย

โดย สุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์
2 Min Read
3 กุมภาพันธ์ 2566
2.371k views
Inv_จัดพอร์ตลงทุน ต้อนรับเศรษฐกิจถดถอย_Thumbnail
Highlights

ถึงแม้ภาพการลงทุนในปี 2566 ดูจะมีโอกาสที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับปี 2565 แต่การลงทุนก็ยังต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การประเมินเป็นไปอย่างเป็นขั้นตอน ซึ่งทำให้การจัดพอร์ตลงทุนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

หากมองย้อนกลับไปนับตั้งแต่ปี 2553 – 2562 ถือว่าเป็นยุคอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ จากนั้นปี 2563 – 2565 เป็นช่วงที่ผู้คนทั่วโลกเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 มีการล็อกดาวน์และปิดเมือง ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจติดขัด ขณะที่สินทรัพย์ลงทุนหลัก เช่น หุ้น ตราสารหนี้ ให้ผลตอบแทนดีในช่วงแรก แต่หลังอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น และอัตราดอกเบี้ยเป็นทิศทางขาขึ้น ผลตอบแทนกลับไม่เป็นที่น่าพอใจ

 

สำหรับปี 2566 ประเมินว่าเป็นปีแห่งการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค “ดอกเบี้ยสูง เศรษฐกิจผันผวนมากขึ้น” โดยภาพรวมเศรษฐกิจโลกจะมีลักษณะสำคัญ 3 ประการ

  • การเติบโตของเศรษฐกิจจะมีความแตกต่างกัน (Divergence) ระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา โดยเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วจะเกิดภาวะถดถอยอย่างอ่อน ๆ จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
  • อัตราเงินเฟ้อ ในปีที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อได้ทำจุดสูงสุดไปแล้วและกำลังเริ่มปรับลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป
  • อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ด้วยภาวะเงินเฟ้อที่ปรับลดลงในแต่ละประเทศไม่เท่ากัน โดยประเทศพัฒนาแล้วยังมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอัตราที่สูงกว่าประเทศกำลังพัฒนา ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ผลที่ตามมา คือ ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและผ่อนคลายนโยบายการเงินในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

 

ดังนั้น ภาพรวมปีนี้น่าจะเป็นทั้งปีที่มี “ความหวัง” และ “ความจริง” โดยความหวังจะเป็น “อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย” จะไม่ปรับขึ้นรุนแรง และ “การเปิดประเทศของจีน” จะช่วยให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ส่วนความเป็นจริงน่าจะเป็นผลของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ในช่วง COVID-19 ที่อาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว

 

โดยมุมมองต่อเศรษฐกิจโลก ประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งสุดท้ายในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ จากนั้นจะเริ่มส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในไตรมาส 3 ของปีนี้ ส่วนยุโรปอาจเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ ผลักดันต้นทุนค่าครองชีพให้ปรับขึ้น ขณะที่สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงสถานการณ์ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันคาดว่าจะไม่รุนแรงขึ้นไปมากกว่านี้ และจีนหลังจากผ่อนคลายมาตรการ Zero-COVID และมาตรการอสังหาริมทรัพย์ ทำให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจน สำหรับเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะเติบโตในช่วงครึ่งแรกของปีนี้และจะชะลอตัวในครึ่งหลังของปี เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวทำให้การส่งออกปรับลดลง การลงทุนภาคเอกชนและการใช้จ่ายภาครัฐก็อ่อนแรงลง แต่ปัจจัยที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโต คือ ภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน

 

สินทรัพย์ลงทุนที่น่าสนใจ

  • ตลาดตราสารหนี้ ในปี 2565 ตราสารหนี้ถือเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่น่าผิดหวัง โดยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับลดลง 11% ส่วนหุ้นกู้ปรับลดลง 15% ซึ่งมาจากการใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวของเฟดและธนาคารกลางทั่วโลก อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการลงทุนตราสารหนี้จะดีขึ้น เนื่องจากเฟดจะหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะอัตราเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และเศรษฐกิจมีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยจากสถิติในช่วงปี 2523 – 2563 พบว่าตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุดในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายผ่านจุดสูงสุด โดยพันธบัตรรัฐบาลให้ผลตอบแทนดีกว่าหุ้นกู้ในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย และแนวโน้มราคาตราสารหนี้ไม่ค่อยผันผวนในช่วงตลาดเป็นขาขึ้น คำแนะนำ คือ หากสนใจลงทุนหุ้นกู้ให้เน้นอันดับความน่าเชื่อถือระดับที่ลงทุนได้ (Investment Grade) อายุ 3 – 5 ปี ส่วนพันธบัตรรัฐบาลก็สามารถลงทุนอายุยาว ๆ ได้ เช่น 10 ปี

 

  • หุ้นไทย ถึงแม้ปัจจัยภายนอกจะท้าทาย แต่เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยปัจจัยสำคัญมาจากภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวและการบริโภคภายในประเทศยังคงแข็งแกร่ง คำแนะนำ คือ เน้นลงทุนหุ้นกลุ่ม Domestic Play ที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ และหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการเปิดประเทศของจีน  

 

  • หุ้นจีนและเอเชีย ประเมินว่าตลาดจีนและเอเชียจะได้รับแรงสนับสนุนจากการเปิดประเทศของจีนและการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและกำไรของบริษัทจดทะเบียน ขณะเดียวกันมีความชัดเจนของการฟื้นตัวที่มาจากภาคบริการและนโยบายการเงินที่ตึงตัวน้อยกว่าสหรัฐอเมริกาและยุโรป ดังนั้น ให้เน้นลงทุนหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการเปิดประเทศของจีนและภาคการบริโภค

 

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และใช้เพื่อสำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้พื้นฐานการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจแบบง่าย ๆ เพื่อจับทิศทางการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ และค้นหาหุ้นเด็ดในแต่ละช่วงเวลา สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Macro Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: