นักลงทุนที่ไม่มีเวลาติดตามข้อมูลข่าวสารตลอดเวลา อาจมีคำถามกับตัวเองภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและผันผวนว่า “จะลงทุนได้สำเร็จหรือไม่” คำตอบคือ สามารถทำได้ เพราะวิธีหนึ่งในการจัดพอร์ตลงทุนที่ง่ายและได้ผลตอบแทนค่อนข้างคุ้มค่า คือ การจัดพอร์ตด้วยกลยุทธ์ 60/40 (หุ้น 60% ตราสารหนี้ 40%)
อย่างไรก็ตาม มีคำถามตามมาว่าหลังจากอัตราเงินเฟ้อปรับขึ้นอยู่ในระดับสูง สูตรการจัดสรรสินทรัพย์ลงทุน (Asset Allocation) แบบ 60/40 ดังกล่าวที่นักลงทุนประยุกต์ใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตลงทุน “เริ่มหมดเสน่ห์” หรือไม่ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อได้กดดันผลตอบแทนที่แท้จริงของตราสารหนี้ให้ติดลบและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางแต่ละประเทศ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ ทำให้เกิดเป็นความเสี่ยงขาลง (Downside Risk) ของตราสารหนี้ เป็นเหตุให้ลักษณะของผลตอบแทนคาดหวังและความเสี่ยง (Risk - Return Profile) ของตราสารหนี้ปรับลดลง
ท่ามกลางผลตอบแทนที่ถูกกัดกร่อนจากปัญหาเงินเฟ้อเรื้อรัง นักลงทุนจึงควรมองหาสินทรัพย์อื่นที่มีผลตอบแทนคาดหวังและความเสี่ยงที่น่าดึงดูดกว่าและสามารถสร้างกระแสเงินสดล้อไปกับอัตราเงินเฟ้อได้ “หุ้นปันผล” จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะสามารถสร้างผลตอบแทนได้เหนือว่าตลาดในระยะยาวและยิ่งเหนือกว่าเป็นพิเศษในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2566 นอกจากหุ้นปันผลจะสามารถลงทุนแทนที่ตราสารหนี้ได้แล้ว นักลงทุนยังสามารถขยับสัดส่วนการลงทุนในหุ้นบางส่วนมายังหุ้นปันผลได้อีกด้วย
ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น โดยเปรียบเทียบดัชนี Dow Jones U.S. Select Dividend กับดัชนี S&P 500 (ไม่รวมกลุ่มสถาบันการเงิน) ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา (ข้อมูลระหว่างวันที่ 16 มกราคม 2562 – 16 ธันวาคม 2565) พบว่าดัชนีผลตอบแทนรวม (TRI) ของดัชนี Dow Jones U.S. Select Dividend เฉลี่ยต่อปีทำได้ 8.79% ขณะที่ดัชนี S&P 500 (ไม่รวมกลุ่มสถาบันการเงิน) เฉลี่ยต่อปีทำได้ 6.98%
เช่นเดียวกับดัชนี SETHD ซึ่งเป็นดัชนีที่ใช้สะท้อนความเคลื่อนไหวราคาของกลุ่มหุ้นที่มีมูลค่าตามราคาตลาดสูง (Market Capitalization) มีสภาพคล่องสูงอย่างสม่ำเสมอ และมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสูง (Dividend Yield) และต่อเนื่อง 30 ลำดับแรก โดยดัชนีผลตอบแทนรวม (TRI) ของดัชนี SETHD รายปี ตั้งแต่เดือน มกราคม 2562 – ถึงวันที่ 19 ธันวาคม 2565 ทำได้ 2.38%, -7.55%, 19.91% และ 4.71% ตามลำดับ ขณะที่ดัชนี SET50 ซึ่งเป็นดัชนีราคาหุ้น ที่แสดงระดับและความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นสามัญที่มีมูลค่าตามราคาตลาดสูงสุด และการซื้อขายมีสภาพคล่องอย่างสม่ำเสมอ 50 ลำดับแรก โดยดัชนีผลตอบแทนรวม (TRI) ของดัชนี SET50 รายปี ตั้งแต่เดือน มกราคม 2562 – 19 ธันวาคม 2565 ทำได้ 5.32%, -12.41%, 11.76% และ 1.61% ตามลำดับ
ถึงแม้ภาพรวมของอัตราเงินเฟ้อจะเริ่มดูดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนปี 2565 อยู่ที่ระดับ 7.1% เป็นการปรับลดลงต่อเนื่อง แต่ยังอยู่ห่างจากกรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ 2% ประเด็นนี้มองว่ามีโอกาสสูงที่จะเกิดอัตราเงินเฟ้อปรับลดลงได้ค่อนข้างยาก (Sticky Inflation) ด้วยสาเหตุระยะสั้น คือ ความต้องการสินค้าที่ยังอยู่ระดับสูง ขณะที่สาเหตุระยะยาวมาจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง
เมื่อโลกกำลังเคลื่อนจากยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) สู่ยุคภูมิภาคาภิวัตน์ (Regionalization) ที่เน้นให้แต่ละประเทศหรือภูมิภาคพึ่งพาทรัพยากรท้องถิ่นและลดการพึ่งพาทรัพยากรภายนอกลง (Self - Sufficiency) ถึงแม้ว่าภูมิภาคาภิวัตน์ ทำให้ภูมิภาคเผชิญกับความเสี่ยงน้อยลง แต่สิ่งที่ต้องแลก คือ ราคาของทรัพยากรที่สูงขึ้น เนื่องจากไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรราคาถูกของประเทศอื่นได้อีกต่อไป ดังนั้น นักลงทุนจึงควรลงทุนในสินทรัพย์ที่สามารถป้องกันอัตราเงินเฟ้อได้หรือในอีกความหมายหนึ่ง คือ สามารถปรับผลตอบแทนไปตามอัตราเงินเฟ้อได้ หนึ่งในนั้น คือ การลงทุนในหุ้นปันผล
นอกจากนี้ หุ้นปันผลยังเป็นทางเลือกการลงทุนที่ดีในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น เนื่องจากหุ้นปันผลมักเป็นบริษัทที่มั่นคงและเติบโตเต็มที่แล้ว ด้วยงบดุลที่แข็งแกร่งกว่าตลาดจากอัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ (Debt to Asset Ratio) ที่ต่ำ และ Free Cash Flow Yield ที่อยู่ระดับสูง เป็นเหตุให้หุ้นปันผลได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่าตลาด
ที่มาของข้อมูล
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ ค้นหาหุ้นดี น่าลงทุนด้วย Stock Screening เพื่อให้ได้หุ้นดี โดนใจ โดยไม่ต้องใช้เวลาค้นหานาน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Stock Screening” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่