เศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปเสี่ยงชะลอตัวและลากยาว
เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย หลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็ว รุนแรง และต่อเนื่อง เพื่อหวังดึงอัตราเงินเฟ้อให้ลงมา ได้ส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินเพื่อการบริโภคและการลงทุนเพิ่มสูงขึ้น แม้อัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จะอยู่ที่ระดับ 9.1% ซึ่งจะเริ่มปรับลดลงได้ในเดือนถัดไป
แต่การลดลงของอัตราเงินเฟ้อในเดือนถัดไปก็ไม่อาจทำให้นักลงทุนวางใจว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะผ่านพ้นปัญหาค่าครองชีพสูงไปได้ นั่นเพราะต่อให้เงินเฟ้อปรับลดลง แต่ก็ยังจะอยู่ในระดับสูง ลากยาว และลดลงได้ช้า เนื่องจากแรงงานที่มีรายได้ มีรายได้เติบโตน้อยกว่าเงินเฟ้อ จึงยังคงต้องการค่าจ้างที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการก็จะขึ้นราคาสินค้าในอนาคตเพื่อส่งผ่านภาระต้นทุนที่สูงขึ้นให้ผู้บริโภค
แม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด จะขึ้นดอกเบี้ยในรอบต่อไปเพียง 0.50% จาก 0.75% และขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอลงเหลือ 0.25% ในแต่ละรอบการประชุมช่วงไตรมาส 4 แต่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยตลอดทั้งปีนี้น่าจะกระทบการใช้จ่ายและการลงทุน มีผลทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจชะลอลงแรงในปีหน้า แต่ผมยังไม่คิดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย เพียงแต่จะขยายตัวได้ต่ำ และเฟดยังสามารถกลับไปลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 ได้เมื่ออัตราเงินเฟ้อชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจ
ในช่วง 6 เดือนข้างหน้านี้ การลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะยังมีความผันผวน ที่ปรึกษาการลงทุนยังแนะนำให้ปรับลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ หรืออาจรอให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนผ่านช่วงไตรมาส 3 ไปก่อน แล้วค่อยกลับมาพิจารณากันอีกครั้ง
ส่วนตลาดหุ้นยุโรปก็น่าเป็นห่วงว่าจะมีความผันผวนที่ลากยาว จากปัญหาความขัดแย้งกับรัสเซียที่อาจนำไปสู่ปัญหาขาดแคลนพลังงานและปัญหาเงินเฟ้อที่รุนแรงกว่าที่คาด แม้ธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 0.50% มากกว่าที่ตลาดคาดเพื่อหวังลดอัตราเงินเฟ้อในอนาคตให้ลดลงอย่างรวดเร็ว หลังอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงสู่ระดับ 8.6% ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และค่าเงินยูโรอ่อนค่าแรงในช่วงก่อนหน้า แต่อัตราเงินเฟ้อยังไม่ใกล้จุดสูงสุดเหมือนฝั่งสหรัฐฯ และน่าจะทำให้ ECB ต้องเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง และอาจกระทบต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นต้นทุนทางการเงินที่รัฐบาลต่าง ๆ ระดมทุนจากประชาชน ซึ่งในภาวะเช่นนี้ ต้นทุนทางการเงินของรัฐบาลอาจสูงขึ้นโดยเฉพาะในประเทศที่มีปัญหาหนี้สาธารณะสูงหรือมีวินัยทางการคลังที่ไม่ดี และอาจมีผลให้นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับปัญหาวิกฤติหนี้ยูโรโซนคล้ายในปี 2011 อีกครั้ง แม้รอบนี้ทาง ECB ได้วางมาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องให้กับรัฐบาลในกลุ่มยูโรแล้วก็ตาม
หลบความผันผวนมาลงทุนในหุ้นจีนและกลุ่ม Defensive
ในภาวะตลาดที่มีความไม่แน่นอนเช่นนี้ นักลงทุนอาจหันมาลงทุนในสินทรัพย์กลุ่มที่มีความผันผวนต่ำกว่าตลาด อีกทั้งมีมูลค่าหรือราคาหุ้นที่น่าสนใจ ซึ่งตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกน่าจะมีการฟื้นตัวที่ดีขึ้นหลังมีการควบคุมการระบาดของเชื้อโควิด-19 พร้อมการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยว และการใช้จ่ายของคนในประเทศได้ดีขึ้น โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีน หลังรัฐบาลคลายล็อกดาวน์ เปิดให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตนอกบ้านได้อีกครั้ง น่าจะสนับสนุนการบริโภค การเดินทาง ภาคการผลิต การบริการ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ
แต่ผมไม่แนะนำให้นักลงทุนลงทุนในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงอย่างเดียว เพราะแม้ที่ปรึกษาการลงทุนจากหลากหลายที่จะเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นจีน แต่จีนเองก็มีความเสี่ยงจากการกลับมาล็อกดาวน์ได้อีกหากยังไม่ได้มีแผนการกระจายวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA ที่สามารถยับยั้งการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ดีกว่าวัคซีนเชื้อตายที่ใช้แพร่หลายในจีน อีกทั้ง จีนยังมีปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ที่อาจลุกลามไปสู่สถาบันการเงิน โดยเฉพาะหากมีปัญหาผิดนัดชำระหนี้ แม้โดยรวมผมยังชื่นชอบการลงทุนในหุ้นจีน แต่ก็อยากเสนอมุมมองการกระจายการลงทุนเพื่อรับมือความผันผวนในเดือนสิงหาคม ดังนี้
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้พื้นฐานการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจแบบง่าย ๆ เพื่อจับทิศทางการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ และค้นหาหุ้นเด็ดในแต่ละช่วงเวลา สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Macro Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่
หรือเรียนรู้แนวทางการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคที่มีผลต่อการลงทุนรายกลุ่มอุตสาหกรรม ตลอดจนเทคนิคในการปรับกลยุทธ์เปลี่ยนกลุ่มลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนตามวงจรเศรษฐกิจ การเติบโตของกลุ่มธุรกิจ หรือความสามารถในการทำกำไรของบริษัทนั้น ๆ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามที่ต้องการและสามารถเอาชนะตลาดได้ในระยะยาว สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “Sector Rotation” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่