นโยบายการเงินหลังเปิดเมือง – ทำไม กนง. จะลดดอกเบี้ยได้อีก

โดย ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย
3 Min Read
2 กันยายน 2564
2.796k views
Inv_นโยบายการเงินหลังเปิดเมือง_Thumnail
Highlights
  • มาตรการล็อกดาวน์ที่ลากยาว ตามด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่สูง การกระจายวัคซีนที่ล่าช้า ประกอบกับการบริโภคที่หดตัวหลังคนหยุดใช้จ่ายช่วงปิดเมือง และความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะโตช้ากว่าที่คาด

  • เศรษฐกิจไทยมีโอกาสโตช้า และ GDP อาจติดลบ 2 ปีซ้อน การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง จึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยมีโอกาสที่ กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 0.25% สวนทางตลาดการเงินโลก

  • ในด้านของการลงทุน น่าจะเป็นโอกาสลงทุนในกองทุนหุ้นต่างประเทศ เช่น ในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น เนื่องจากมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว ขณะที่การลงทุนในภูมิภาคเอเชียยังสามารถทำได้

เปิดเมืองดันเศรษฐกิจฟื้น

ทาง ศบค. ประกาศคลายมาตรการล็อกดาวน์เริ่มวันที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา โดยให้ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า และภาคบริการอีกบางประเภทกลับมาเปิดได้บางส่วน ซึ่งน่าจะมีผลให้การบริโภคในเดือนกันยายนฟื้นตัวจากเดือนสิงหาคม อย่างไรก็ตาม คาดว่า GDP ไตรมาส 3 จะหดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 เพราะการล็อกดาวน์ยาวนานและจำกัดหลากหลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยกลุ่มที่น่าจะฟื้นตัวหลังการคลายล็อกดาวน์ ได้แก่ กลุ่มอาหาร เครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์ ร้านอาหาร (กลุ่มร้านอาหารในพื้นที่ห้างอาจฟื้นตัวช้ากว่ากลุ่ม Stand-Alone) ร้านค้าปลีก ค้าส่ง และตลาดสด

Inv_นโยบายการเงินหลังเปิดเมือง_01

ส่วนห้างสรรพสินค้าอาจฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 4 เพราะในเดือนกันยายนนั้น จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันอาจยังอยู่ในระดับสูง แม้จะลดลงจากเดือนสิงหาคมบ้างก็ตาม แต่ผู้บริโภคยังระมัดระวังการเดินทางในพื้นที่ปิด ขณะที่การบริโภคกลุ่มสินค้ากึ่งคงทน เช่น เสื้อผ้า รองเท้า และเฟอร์นิเจอร์ อาจฟื้นตัวช้าจากปัญหาการขาดรายได้ และความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งหวังว่าจะมีมาตรการกระตุ้นการบริโภคจากภาครัฐในช่วงไตรมาส 4 หลังผู้ติดเชื้อลดลง ซึ่งน่าจะทำให้ GDP ไตรมาส 4 พลิกกลับมาขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ได้

227_Inv_นโยบายการเงินหลังเปิดเมือง_02

เมื่อภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้น นโยบายการเงินของไทยจะเดินหน้าอย่างไร ซึ่งอาจจะเตรียมส่งสัญญาณการถอนคันเร่ง หรือเตรียมขึ้นดอกเบี้ยเหมือนในเกาหลีใต้ที่ขึ้นดอกเบี้ยจากระดับ 0.50% เป็น 0.75% ในช่วงปลายสัปดาห์ก่อน หรืออย่างธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่เตรียมถอนมาตรการ QE ปีนี้หรือไม่ ต้องติดตาม

 

อย่าลอกการบ้านใคร

เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงโตช้ากว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า คล้ายตลาดเกิดใหม่ หรือ Emerging Market (EM) โดยทั่วไป จากจำนวนผู้ติดเชื้อในระดับสูง มาตรการล็อกดาวน์ที่ลากยาว ต่างกับตลาดพัฒนาแล้ว หรือ Developed Market (DM) ที่เติบโตได้รวดเร็ว จากการกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง มีนโยบายการคลังสนับสนุน ตลาดแรงงานฟื้นตัวได้เร็ว ซึ่งการฟื้นตัวได้เร็วเช่นนี้ได้ก่อให้เกิดสัญญาณด้านฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้น เงินเฟ้อขยับขึ้นเร็ว ธนาคารกลางจึงจำเป็นต้องส่งสัญญาณรักษาเสถียรภาพตลาดการเงิน ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคงยากที่จะส่งสัญญาณดังกล่าว เพราะบริบททางเศรษฐกิจแตกต่างกันมาก

 

แม้หลังเปิดเมืองในเดือนกันยายนนี้ การบริโภคยังมีโอกาสหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า เพราะขาดการเร่งของอุปสงค์หลังคนหยุดใช้จ่ายนาน หรือ Pent-Up Demand ตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังอยู่ในระดับต่ำ การท่องเที่ยวในประเทศยังฟื้นตัวช้าตามผู้ติดเชื้อที่สูง การกระจายวัคซีนในประเทศที่ล่าช้า อีกทั้งมีข้อจำกัดที่ค่อนข้างมากหลังเปิดเมืองในเดือนกันยายน และที่น่าห่วงอีกประการคือ ปัญหาอุปทานขาดแคลน หรือ Supply Disruption ในฝั่งภาคการผลิต จากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เพราะคนงานติดเชื้อหรือมีการจำกัดจำนวนคนงานในโรงงาน ซึ่งจะกระทบต่อกำลังการผลิต และทำให้การส่งออกของไทยขยายตัวต่ำลงกว่าช่วงครึ่งปีแรก การจ้างงานในกลุ่มนี้จึงอาจอ่อนแอกระทบกำลังซื้อ และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังติดลบเมื่อเทียบกับครึ่งปีหลังของปีก่อนหน้า ดังนั้น จึงมองว่า นโยบายการเงินของไทยจำเป็นต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง

 

โอกาสสุดท้ายลดดอกเบี้ย 29 กันยายนนี้

จากวันนี้จนถึงวันประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 29 กันยายนนี้ ปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยที่สนับสนุนเศรษฐกิจไทยอาจเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะปัจจัยด้านวัคซีนที่หากเอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนทางเลือก โดยเฉพาะกลุ่ม mRNA มาได้ในจำนวนมาก ก็มีโอกาสที่กำลังซื้อระดับกลาง-บนจะฟื้นตัวได้เร็ว สนับสนุนการบริโภคและการท่องเที่ยวภายในประเทศ และขจัดอุปสรรคด้าน Supply Chain ของภาคอุตสาหกรรมจากการที่ผู้ประกอบการสามารถจัดหาวัคซีนให้คนงานได้รวดเร็ว ซึ่งจะช่วยเร่งการส่งออกได้อีกทางหนึ่ง หากเป็นเช่นนั้นในเดือนกันยายนนี้หรือมีสัญญาณชัดเจนว่าวัคซีนจะเข้ามามากในต้นไตรมาส 4 เศรษฐกิจไทยน่าจะเร่งขึ้นในช่วงปลายปีนี้และปีหน้า อัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่หากอยู่ในสมมติฐานปัจจุบันที่วัคซีนจะมาได้น้อยและมาช่วงปลายปีนี้ จึงมองว่า มีโอกาสที่ทาง กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 0.25% สวนทางตลาดการเงินโลก ตามปัญหาเศรษฐกิจในประเทศด้วยปัจจัยดังต่อไปนี้

 

  1. GDP ไทย เสี่ยงเข้าสู่ Technical Recession หรือ GDP หดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสต่อไตรมาสเป็นเวลาสองไตรมาสติดต่อกัน แม้ในสมมติฐานปัจจุบันมองว่า GDP ในไตรมาส 4 จะฟื้นตัวได้ แต่หากการระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมรุนแรงและกระทบภาคการส่งออก เศรษฐกิจไทยเสี่ยงทรุดตัว โดย GDP อาจติดลบสองปีซ้อน และทำให้โตช้าในปีต่อ ๆ ไป
  2. จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังสูง ซึ่งแม้เปิดเมืองแล้ว ผู้บริโภคอาจยังลังเลที่จะเดินทางและซื้อสินค้า การบริโภคยังอ่อนแอ คนยังขาดรายได้
  3. อัตราการฉีดวัคซีนยังต่ำ โดยผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม มีเพียงประมาณ 10% ของประชากร และอาจต้องมีการเรียกผู้ที่ได้รับวัคซีนประเภท Sinovac กลับเข้ามาฉีดเข็มกระตุ้นเพื่อยับยั้งเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์เดลต้า แต่อาจทำได้ยากเนื่องจากยังมีประชาชนอีกมากที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มแรก ซึ่งจะกระทบความเชื่อมั่นในการบริโภค
  4. เงินบาทที่พลิกกลับมาแข็งค่า ในช่วงนี้ตามการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยออกไป น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสในการลดดอกเบี้ยนโยบายได้ โดยไม่ทำให้เสถียรภาพตลาดเงินและตลาดทุนเสียหาย

 

สรุป ผมมองว่า กนง. มีโอกาสสุดท้ายในวันที่ 29 กันยายนนี้ ในการตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะหากรอต่อไป เศรษฐกิจเสี่ยงถลำลงลึก เงินไหลออก ความเชื่อมั่นหาย ขณะที่ Fed เตรียมถอน QE ทำให้ไทยอาจปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินได้ยากขึ้น แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะอยากใช้นโยบายการคลังและวัคซีนในการแก้ปัญหา หรือการปล่อยสินเชื่อเฉพาะจุด เพื่อช่วยครัวเรือนที่มีปัญหาและ SME ที่ได้รับผลกระทบ ด้วยการสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ปรับโครงสร้างหนี้ พักชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย หรือลดเงินต้นไปเลย (Haircut) แต่มองว่าที่ผ่านมา การส่งผ่านนโยบายนี้ทำได้ช้า การลดดอกเบี้ยน่าจะสนับสนุนมาตรการข้างต้น แต่สุดท้าย ผมมองว่าการลดดอกเบี้ยอย่างเดียวไม่พอที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย เพราะอาจเสี่ยงเกิดปัญหากับดักสภาพคล่อง หรือ Liquidity trap ซึ่งต่อให้ลดดอกเบี้ยไป สินเชื่อก็ไม่ขยายตัว ธนาคารพาณิชย์กังวลความเสี่ยง ภาครัฐอาจช่วยสร้างความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจ หรือในกรณีเร่งด่วน การจัดตั้งกองทุนเพื่อรับโอนหนี้เสียมาบริหารเองอาจเพิ่มปริมาณสินเชื่อในระบบได้

 

มุมมองการลงทุนหลังเปิดเมือง

มุมมองการลงทุนของผมหลังเปิดเมือง แม้เป็นปัจจัยบวกดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะในจังหวะที่ Fed ส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยต่ำยาว แต่ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยยังสูง กนง. สามารถลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมหรืออย่างน้อยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลมีโอกาสลดลงได้อีก ขณะที่ดอกเบี้ยไทยน่าจะอยู่ระดับต่ำนาน เราน่าจะได้เห็นการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มเติม

 

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนไทยน่าจะหาโอกาสลงทุนในกองทุนหุ้นต่างประเทศ เช่น ในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น เนื่องจากมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว ขณะที่การลงทุนในภูมิภาคเอเชียยังสามารถทำได้ โดยหาจังหวะเข้าซื้อเมื่อราคาย่อลง แต่ให้ระวังการปรับตัวแรงในตลาดหุ้นจีน ส่วนตลาดหุ้นไทย ผมมองว่ามีโอกาสปรับขึ้นได้น้อยกว่าตลาดหุ้นต่างประเทศ ด้วยเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ในช่วงดอกเบี้ยต่ำเช่นนี้ จึงน่าจะเพิ่มน้ำหนักในกลุ่ม REIT ซึ่งยังให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ ในส่วนของทองคำนั้น ผมมองว่าราคาทองคำมีโอกาสปรับขึ้นได้ในเดือนกันยายนจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่า และการคงอัตราดอกเบี้ยต่ำ ขณะที่เงินเฟ้อระยะยาวมีโอกาสปรับขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่วนนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อย การลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวก็สามารถให้ผลตอบแทนได้บ้าง และน่าจะหาโอกาสลงทุนในผลิตภัณฑ์หุ้นกู้ที่สามารถให้ผลตอบแทนสูงขึ้นได้ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ความเสี่ยงด้านเครดิตยังต่ำ

 

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนและผู้ที่สนใจ เรียนรู้พื้นฐานการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจมหภาค การวิเคราะห์ GDP รวมไปถึงการใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลังของภาครัฐ เพื่อให้สามารถวิเคราะห์และจับทิศทางการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้ประโยชน์จากภาวะเศรษฐกิจนั้น ๆ ได้ และค้นหาหุ้นเด็ดในแต่ละช่วงเวลา สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร Macro Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: